วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

อานาปานสติ

อานาปานสติ (–ปานะสะติ) มีอยู่ 16 คู่ คือ

1.หายใจเข้า-ออกยาวรู้

2.หายใจเข้า-ออกสั้นรู้ (ลมหายใจเริ่มละเอียดขึ้นเมื่อใจเป็นสมาธิ)

3.หายใจเข้า-ออกกำหนดกองลมทั้งปวง (จิตจะกำหนดแต่กองลมในกาย ถ้าบริกรรมคำใดอยู่ เช่น พุทโธ คำบริกรรมจะหายไปเอง)

4.หายใจเข้า-ออกเห็นกองลมทั้งปวงสงบก็รู้ (จับลมหายใจไม่ได้เหมือนลมหายใจหายไป)

5.หายใจเข้า-ออกปีติ เกิดก็รู้

6.หายใจเข้า-ออก สุขเกิดก็รู้

7.หายใจเข้า-ออก กำหนดจิตสังขาร (อารมณ์ต่างๆที่จรเข้ามาปรุงแต่งจิต เช่น รัก ราคะ โกรธ หลง) ทั้งปวง /ที่เหลือเพียงอารมณ์อุเบกขา

8.หายใจเข้า-ออก เห็นจิตสังขารสงบก็รู้

9.หายใจเข้า-ออก พิจารณาจิต (พิจารณาสภาวะรู้)/ว่าจิตพิจารณารู้ในอานาปานสติอยู่

10.หายใจเข้า-ออกจิตบันเทิง (มโน-สภาวะที่น้อมพิจารณาเพ่งอยู่/ยินดีในองค์ภาวนาอานาปานสติ) ก็รู้

11.หายใจเข้า-ออก จิตตั้งมั่น (ในอารมณ์นิมิตรอานาปานสติ) ก็รู้

12.หายใจเข้า-ออกจิตเปลื้อง (ในสัญญาในอารมณ์นิมิตรอานาปานสติ) ก็รู้

13.หายใจเข้า-ออก พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง (อนิจจัง ) ในขันธ์ทั้ง 5 (มีลมหายใจเป็นตัวแทนรูปขันธ์)

14.หายใจเข้า-ออก พิจารณาโดยไม่ปรุงแต่ง (เช่น ต้นไม้ย่อมมีลักษณะเป็นไปตามธรรมชาติ เราตัดสินว่าต้นไม้นี่ลักษณะสวย ต้นไม้นี่ลักษณะไม่สวย)

15หายใจเข้า-ออก พิจารณาโดยไม่ยึดติด ( เช่นมีคนนำขวดน้ำมาวางไว้ข้างหน้าเรา ให้เรา ต่อมามีคนคว้ามันไปกิน เราโกรธว่ากินน้ำเรา คือ ความยึดมั่นนั้นเพิ่งเกิด เมื่อเราไปยึดไว้)

16.หายใจเข้า-ออกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ (ปฏินิสสัคคายะ)

จัดให้ข้อ1-4เป็นกายานุปัสสนา ข้อ5-8เป็นเวทนานุปัสสนา ข้อ9-12จัดเป็นจิตตานุปัสนา ข้อ13-16จัดเป็นธรรมนุปัสสนา

อานาปานสติเป็นกรรมฐานที่เหมาะสมกับคนทุกคน และเลือกได้หลากหลาย มีความลึกซึ้งมากดังจะอธิบายต่อไป เนื่องจากอานาปานสติสามารถที่ภาวนาลัดให้มาสู่สัมมสนญาน 1ในญาณ16ได้ โดยไม่ต้องเจริญสติและพิจารณาสัญญา10ไปด้วยเหมือนอย่างอื่นๆ เมื่อเจริญอานาปานสติตามข้อ1 สภาวะย่อมเป็นไปโดยลำดับจากข้อ 1 จนถึงข้อ12 จิตจะเป็นปฐมฌาณอันเกิดจากการเจริญสติ (เกิดสัมมสนญาณ) จะพบเห็นขันธ์ทั้งห้าที่หลงเหลืออยู่ในขณะขั้นเกิดดับได้ เมื่อขณะจิตเป็นฌาณ ซึ่งเหลือเพียง10สภาวะ โดยที่ข้อ3-4เป็นรูปขันธ์ ข้อ5-6เป็นเวทนาขันธ์ (มีเพียงปีติและสุข) ข้อ7-8เป็นสังขารขันธ์ ข้อ9-10เป็นวิญญาณขันธ์ ข้อ11-12เป็นสัญญาขันธ์ เมื่อเห็นขันธ์ทั้งห้า ตามตั้งแต่ข้อ3-12ย่อมเห็นขันธ์ห้า (อันมีลมหายใจเป็นตัวแทนแห่งรูปขันธ์) เกิดดับตลอดจนเห็นเป็นอนิจจัง ( ข้อ13หายใจเข้า-ออก พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ) โดยสมบูรณ์พิจารณาข้อ13ไปจนบรรลุข้อ14หายใจเข้า-ออก พิจารณาโดยไม่ปรุงแต่ง ,15พิจารณาโดยไม่ยึดติด ,16 หายใจเข้า-ออกปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่ในอานาปานสติ16 ข้อผู้เริ่มปฏิบัติสามารถที่จะเลือกเริ่มปฏิบัติในข้อ1 ข้อ5 ข้อ9 และข้อ13

ดึงข้อมูลจาก "http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4".


เพิ่มเติม

ขั้นที่1 เกี่ยวกับลมหายใจยาว
หัดหายใจยาว ศึกษาลมหายใจยาวว่า มีลักษณะอย่างไร มีอาการอย่างไร มีธรรมชาติอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไร รู้กันให้หมด และ กำหนดให้ได้อยู่อย่างนั้น(จิตยู่ที่ลมหายใจยาวตลอดเวลา)

ขั้นที่2 เกี่ยวกับลมหายใจสั้น
หัดหายใจสั้น ศึกษาลมหายใจสั้นว่า มีลักษณะอย่างไร มีอาการอย่างไร มีธรรมชาติอย่างไร มีอิทธิพลอย่างไร มีปฏิกิริยาอย่างไร รู้กันให้หมด และ กำหนดให้ได้อยู่อย่างนั้น(จิตยู่ที่ลมหายใจสั้นตลอดเวลา)

ขั้นที่3 รู้จักกายทั้งปวง
เราเปรียบ "ลมหายใจ" เป็นกาย(รูป ในขันธ์5) ศึกษาดูว่า กายลม กับ กายเนื้อ เกี่ยวข้องกันอย่างไร นั่งกำนดว่าถ้าหายใจอย่างนี้ กายเนื้อเป็นอย่างไร ลมหายใจ ยาว สั้น หยาบ ละเอียด กายเนื้อเป็นอย่างไร

ขั้นที่4 ทำให้กายสังขารระงับ
เราสามารถบังคับใจได้โดยผ่านทางกาย
เราสามารถบังคับกายได้โดยผ่านทางลมหายใจ
เมื่อลมหายใจสงบระงับ กายก็สงบระงับ เกิดความสงบระงับขึ้นในระบบกายเป็นขั้นๆชั้นๆละเอียดๆ โดยทำอารมณ์สำหรับบังคับนั้นเป็นขั้นๆชั้นๆละเอียดๆตามลำดับ
1.กำหนดที่ลมหายใจโดยตรง
2.กำหนดตรงที่ลมหายใจกระทบ
3.กำหนดตรงที่ลมหายใจตกกระทบ แล้วสร้างนิมิตง่ายๆขึ้นมาใหม่ แล้วก็กำหนดนิมิตนั้นแทน
4.กำหนดนิมิตและสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของนิมิตได้

อธิบายเพิ่มเติมขั้นที่4
1.ตอนแรกๆเรายังไม่ชำนาญในการกำหนด สติจะไม่ค่อยอยู่กับลมหายใจนาน เผลอจะหายไปคิดเรื่องอื่นทันที่ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้นขั้น1จึงให้กำหนดที่ลมหายใจโดยตรง ให้ตามมันไปตลอด คือ หายใจเข้าก็ตามไปตั้งแต่จมูกเข้าไปสุดที่สะดือ แล้วตามออกมาจากสะดือ ออกมาที่จมูกอีกครั้ง สติก็จะไม่หายไปไหน
2.เมื่อชำนาญมากขึ้นสติไม่ค่อยหนี้ไปไหนแล้วก็เปลี่ยนมากำหนดหรือเฝ้าที่ใดที่หนึ่งแทน ในที่นี้ก็คือปลายจมูกจุดที่ลมหายใจกระทบ ขั้นนี้เราจะไม่ตามลมหายใจไป
3.พอเราเฝ้าดูลมหายใจที่ใดที่หนึ่งนานๆจะเกิดอาการที่คล้ายกับว่า ลมหายใจหายไป(จริงๆไม่ได้หายไปไหน แต่มันละเอียดขึ้นมากๆ)จนยากที่จะกำหนดในขั้นที่2ต่อได้ เราก็พัฒนามากำหนดตรงจุดที่ลมหายใจกระทบนั้นเป็น นิมิตง่ายๆขึ้นมาแทน นิมิตนี้ไม่ใช่ของจริงอะไร แต่เราสร้างขึ้น กำหนดขึ้น (จะเป็น ดวงขาว ดวงเขียว ดวงแดง บ้างที่ก็เหมือนใยแมงมุมวาวๆในแสงแดด เหล่านี้เป็นตัวอย่าง ซึ่งจะไม่เหมือนกันทุกคน)
4.ที่นี้พอชำนาญมากขึ้น ก็สามารถบังคับให้นิมิตนั้นเปลี่ยนได้ ใหญ่-เล็ก , เล็ก-ใหญ่ , เปลี่ยนสีไปมา , เปลี่ยนอิริยาบทให้มันลอยไปลอยมาได้ ตามจิตว่าจะให้เปลี่ยนอย่างไร เป็นสิ่งที่ทำได้ตามแบบธรรมชาติ ตามกฏของธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องแปลกอย่างไร


แทรก ลำดับของสมาธิ

1.อุคคหนิมิต นิมิตง่ายๆที่เราฝึกสร้างขึ้นมาตอนแรก [เริ่มมีอำนาจบังคับจิตได้แล้ว]
2.ปฏิภาคนิมิต เมื่อชำนาญขึ้นสามารถบังคับนิมิตได้ในลักษณะต่างๆ [มีอำนาจบังคับจิตได้แล้ว]
3.องค์ณาน หรือ องค์สมาธิ เมื่อชำนาญมากขึ้นการคอยเฝ้าดูความรู้สึกแก่จิต มันอยู่ในอำนาจแล้ว มันรวมอยู่ที่จุดๆเดียว มันแสดงลักษณะอะไรบ้างที่กำหนดได้
3.1.ณานที่1 ปฐมณาน ประกอบด้วยองค์ประกอบ5อย่าง คือ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคคตา
3.2.ณานที่2 ทุติยณาน ประกอบด้วยองค์ประกอบ3อย่างคือ ปิติ สุข เอกัคคตา
3.3 ณานที่3 ตติยณาน ประกอบไปด้วยองค์ประกอบ2อย่างคือ สุข เอกัคคตา
3.4 ณานที่4 จตุตถณาน ประกอบด้วยองค์ประกอบอย่างเดียวคือ เอกัคคตา

อธิบายเพิ่มเติม 1
วิตก คือ กำหนดที่อารมณ์ได้
วิจารณ์ คือ รู้สึกต่ออารมณ์ได้
ปิติ คือ ความพอใจ ปราโมทย์ที่บังคับได้
สุข คือ สิ่งที่ตามมาเพราะปิติ
เอกัคคตา คือ การรวมยอดอยู่ที่นั้น

อธิบายเพิ่มเติม 2
การเลื่อนขั้นณาน
1.แรกเริ่มมีองค์ประกอบครบ5อย่างคือ วิตก วิจารณ์ ปิติ สุข เอกัคคตา เป็น ปฐมณาน
2.กำหนดละเอียดขึ้นเหลือ ปิติ สุข เอกัคคตา(วิตก วิจารณ์ หายไป) เป็น ทุติยณาน
3.กำหนดละเอียดขึ้นเหลือ สุข เอกัคคตา(ปิติ หายไป) เป็น ตติยณาน
4.กำหนดละเอียดขึ้นเหลือ เอกัคคตา(สุข หายไป) เป็น จตุตถณาน


จะเห็นว่า อานาปานสติในหมวดที่1 กายนุปัสสนา เป็นการฝึกเกี่ยวกับ สมถะ ส่วนหมวดที่เหลือ จะเป็นการฝึกเกี่ยวกับ วิปัสสนา

พุทธศาสนาอาจแบ่งได้เป็น3ขั้นตอนใหญ่ๆคือ ปริยัติ - ปฏิบัติ - ปฏิเวท

ปริยัติ คือ ภาคทฤษฎี เป็นการ ฟัง , อ่าน , จดจำ ข้อธรรมต่างๆให้เข้าใจก่อน
ปฏิบัติ คือ ภาคปฏิบัติ เป็นการนำความรู้จากการปริยัติ มาทำให้เกิดผลขึ้นมา
ปฏิเวท คือ ผลที่เกิดสืบเนื่องมาจาก ปริยัติ และ ปฏิบัติ มีลำดับผลตามความมากน้อยต่างกันไป(กัณยาปุตตุชน , โสดาบัน , สกิทาคามี , อานาคามี , อรหันต์)

ในส่วนของการปฏิบัติเองก็แบ่งได้เป็น2ขั้นตอนใหญ่ๆคือ สมถะ กับ วิปัสสนา

สมถะ คือ การทำให้จิตเป็นสมาธิมากน้อยตามลำดับเพื่อใช้จิตที่เป็นสมาธินี้ไปพิจรณาในขั้นวิปัสสนา
วิปัสสนา คือ การนำเอากำลังของสมาธิมาพิจรณาข้อธรรมต่างๆ

อานาปานสติ 16 ขั้น เป็นการปฏิบัติที่มีทั้ง สมถะ และ วิปัสสนา พร้อมกันไปในตัว(เป็นหนึ่งในหลายๆแบบ)
ในพระบาลี(พระไตรปิฎกขั้นบาลี) อานาปานสติ มีอยู่ในสูตรสั้นๆชื่อว่า อานาปานสติสูตร ในมหาสติสูตร
พระพุทธองค์ตรัสว่า "เมื่อทำอานาปานสติครบ 16 ขั้นแล้ว สติปัฏฐาน 4 ก็สมบูรณ์ , เมื่อสติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์แล้ว โพชฌงค์ก็สมบูรณ์ , เมื่อโพชฌงค์สมบูรณ์แล้ว วิชชา และ วิมุตติก็สมบูรณ์"
ข้อดีของอานาปานสติ มีหลายอย่างเช่น ลมหายใจมีกันทุกคนอยู่แล้วไม่ต้องไปหาที่ไหน , ทำได้ทุกที่ , ทำได้ทุกอริยาบท ๆลๆ

ที่มา:http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/X2471717/X2471717.html

วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

สติปัฏฐาน 4

สติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งของสติ เป็นวิธีปฏิบัติที่นิยมกันมากเพราะเป็นการปฏิบัติที่มีพร้อมทั้งสมถะและวิปัสสนาในตัว แม้พระพุทธองค์ยังทรงตรัสสรรเสริญไว้ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นมรรคาเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้นความโศกและความร่ำไร เพื่อความอัสดงดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้คือ สติปัฏฐาน 4”

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงตรัสถึงอานิสงส์ของผู้เจริญสติปัฏฐาน 4 ไว้ว่า
“ผู้ใดเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ตลอด 7 วัน หรืออย่างสุดตลอด 7 ปี ผู้นั้นพึงหวังผล 2 อย่าง คือ ได้บรรลุอรหันตผลในชาติปัจจุบัน หรือถ้ายังมีอุปาทิเหลืออยู่ก็เป็นพระอนาคามี”

สติปัฏฐาน 4 นี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ใน มหาสติปัฏฐานสูตร เล่ากันว่าในสมัยนั้นชาวแคว้นกุรุไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ล้วนมีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์อยู่เป็นนิจ ด้วยเหตุว่า แคว้นนี้สมบูรณ์ด้วยสัปปายะต่างๆ มีอุตุสัปปายะเป็นต้น เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นความพร้อมของชาวกุรุที่มีร่างกายจิตใจสมบูรณ์และมีกำลังปัญญาสามารถเข้าใจธรรมเทศนาอันลึกซึ้งได้จึงทรงแสดงพระสูตรนี้แก่ชาวกุรุ เมื่อพุทธบริษัท 4 ในแคว้นกุรุนั้นได้รับฟังธรรมเทศนาแล้วต่างก็เจริญสติปัฏฐานอยู่เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นคนงานคนรับใช้ หรือใครๆ ก็ตาม

สติปัฏฐาน แบ่งเป็น 4 หมวด คือ

1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
4) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงกายไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ให้รู้ เห็นตามเป็นจริงจำแนกวิธีปฏิบัติไว้ 6 อย่างคือ

1.อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ คือ ไปในที่สงัด อาจเป็นป่าโคนไม้ เรือนว่าง หรือที่สงบวิเวก จากนั้นจึงนั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรงดำรงสติเฉพาะหน้า ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้า-ออก โดยอาการต่างๆ คือ
เมื่อลมหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว
เมื่อลมหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น

2.อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถคือเมื่อยืน เดิน นั่ง นอน หรือร่างกายอยู่ในอาการอย่างไรๆ ก็รู้ชัดในอาการที่เป็นอยู่นั้น

3.สัมปชัญญะ คือ สร้างสัมปชัญญะ (ความเป็นผู้รู้พร้อม)

4.ปฏิกูลมนสิการ คือการพิจารณาร่างกายของตนตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้า ว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ อันได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร

5.ธาตุมนสิการ คือ พิจารณาร่างกายของตน โดยให้เห็นแยกเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

6.นวสีวถิกา คือ มองเห็นศพที่อยู่ในสภาพต่างๆ กัน โดยระยะเวลา 9 ระยะ ตั้งแต่ตายใหม่ๆ ไปจนถึงกระดูกผุ แล้วในแต่ละกรณีนั้นให้ย้อนมานึกถึงร่างกายของตน ว่าก็จะต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน

สภาพศพ 9 ระยะได้แก่
1. ซากศพที่ตายแล้ว 1-3 วัน กำลังเน่าพองขึ้นอืด เป็นสีเขียว มีน้ำเหลือไหล
2. ซากศพที่ถูกสัตว์ เช่นสุนัข แร้ง กา หรือหมู่สัตว์ตัวเล็กๆ ต่างๆ จิกทึ้งกัดกิน
3. ซากศพเหลือแต่ร่างกระดูก ยังมีเนื้อ เลือดและเส้นเอ็นรึงรัดอยู่
4. ซากศพที่ปราศจากเนื้อเหลือแต่ร่างกระดูกเปื้อนเลือด และยังมีเส้นเอ็นรึงรัดอยู่
5. ซากศพที่ปราศจากเนื้อและเลือด เหลือแต่ร่างกระดูกมีเส้นเอ็นรึงรัดอยู่
6. ซากศพที่เหลือแต่กระดูก กระจัดกระจายไปในทิศทางต่างๆ
7. ซากศพที่เป็นท่อนกระดูกสีขาวเหมือนสังข์
8. ซากศพที่เหลือเพียงท่อนกระดูกกองเรี่ยราดเป็นเวลาเกิน 1 ปีไปแล้ว
9. ซากศพที่เหลือเพียงท่อนกระดูกผุละเอียดแล้ว

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นเพียงเวทนาไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา คือ เมื่อเกิดความรู้สึกสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นชนิดสามิสและนิรามิสก็รู้ชัดตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิตให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิตไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ หลุดพ้น ยังไม่หลุดพ้น ฯลฯ ก็รู้ชัดตามที่มันเป็นอยู่ในขณะนั้นๆ

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา คือมีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลายได้แก่
1. นิวรณ์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นๆ ว่านิวรณ์ 5 (ได้แก่ กามฉันทะ พยาบาท ความหดหู่ง่วงเหงา ความฟุ้งซ่านกังวลใจ ความลังเลสงสัย) แต่ละอย่างๆ มีอยู่ในใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร มีเกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร รู้ชัดตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
2. ขันธ์ คือ กำหนดรู้ว่าขันธ์ 5 แต่ละอย่างคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร
3. อายตนะ คือ รู้ชัดในอายตนะภายในภายนอกแต่ละอย่างๆ รู้ชัดในสัญโยชน์ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยอายตนะนั้นๆ รู้ชัดว่าสัญโยชน์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้วไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร
4. โพชฌงค์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นๆ ว่า โพชฌงค์ 7 (องค์แห่งการตรัสรู้ ได้แก่ สติ ธรรมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ (อุเบกขา) แต่ละอย่างๆ มีอยู่ในใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วเจริญเต็มบริบูรณ์ได้อย่างไร
5. อริยสัจ คือ รู้ชัดอริยสัจ 4 แต่ละอย่างๆ ตามความเป็นจริง ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร

หมายเหตุ เรียบเรียงจาก
1. มหาสติปัฏฐานสูตร พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค
2. พุทธธรรม พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
3. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระเทพเทวี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

ที่มา : ธรรมะสว่างใจ ฉบับที่ 15

บทความจาก:
http://sanghathandhamma.com/index.php?option=com_content&task=view&id=198&Itemid=71

อัจฉริยะ กับ สติปัฎฐาน 4

ข่าว ไทเกอร์ วู้ดส์ โปรกอล์ฟมือหนึ่งของโลก คว้าแชมป์ครั้งแล้วครั้งเล่า รู้สสึกประหลาดใจว่าเขามีคุณสมบัติอะไรที่เหนือกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ ปีที่แล้วปีเดียวเขาคว้าแชมป์ไปเจ็ดรายการรวด ไทเกอร์ คว้าแชมป์เป็นว่าเล่น ชนะเลิศการแข่งขัน พีจีเอทัวร์ถึง 62 รายการ จนนักข่าวบางคนให้ความเห็นแปลกๆ ว่าเขาอาจเป็นมนุษย์ต่างดาวปลอมตัวมา



เช่นเดียวกับ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ นักเทนนิสมือหนึ่งของโลก ซึ่งครองตำแหน่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นสถิติใหม่ในการครองดันดับหนึ่งติดต่อกันยาวนานที่สุด และได้รับการตัดสินให้เป็นนักกีฬายอดเยี่ยมของโลก 3 ปีซ้อน เขาเป็นเชมป์วิมเบิลดันถึง 5 สมัย ฝีมือของเขาในเชิงเท็นนิสไร้เทียมทานที่สุด ชนิดที่เรียกว่า นับตั้งแต่มีมนุษย์คนแรกของโลกเกิดขึ้นเมื่อสองแสนปีก่อนจนถึงปัจจุบัน ไม่มีใครเล่นเท็นนิสได้เก่งกว่าเขา

เหตุและปัจจัยอะไรที่ทำไห้นักกีฬาหลายๆคน มีฝีไม้ลายมือในระดับที่เรียกว่า เหนือมนุษย์ เข้าขั้นเทพเข้าไปทุกที

เทวดาเป็นผู้ที่ฝึกสติจนบรรลุฌาน หรือญาณมาก่อน มนุษย์ผู้ที่เข้าใกล้ขั้นเทพก็คือผู้ที่ มีสติสัมปชัญญะสูงกว่าปกตินั่นเอง และสติที่นักกีฬาเหล่านี้มี ต้องเป็นสติที่ไว และละเอียดกว่าคู่แข่ง การฝึกสติได้ไวขนาดนั้น มีอยู่ทางเดียวคือ ใช้หลักของ สติปัฎฐาน 4 หมวด กายานุปัสสนา นั่นเอง

สติปัฎฐาน 4


กายานุปัสสนา : พิจารณากายเป็นอารมณ์


เวทนานุปัสสนา : พิจารณาสุข ทุกข์ เป็นอารมณ์


จิตตนุปัสสนา : พิจารณาจิต เป็นอารมณ์


ธรรมานุปัสสนา : พิจารณาธรรมเป็นอารมณ์

สติปัฎฐาน คือ การเจริญภาวนาที่มีสติเป็นประธาน พระพุทธองค์ตรัสว่าสติปัฎฐานนี้ เป็นหนทางที่เป็นอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงความโศก และปริเทวะ เพื่อดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำพระนิพานให้แจ้ง

การมีสติสัมปชัญญะ มีความเพียร กำหนดรู้กายตามสภาวะเป็นจริง เช่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาเดิน นั่ง นอน รู้ลักษณะของธาตุทั้ง 4 ในกายเรานี้มี ผม ขน เล็บ เป็นต้น ตามเป็นจริงว่า เป็นสักว่ากายเท่านั้น เรียกว่า กายานุปัสสนา

การรู้เท่าทันตัวที่เสวยอารมณ์ เช่น เสวยสุขก็รู้ว่าสุข เสวยทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ มีสติรู้อยู่อย่างนี้เรียกว่า เวทนานุปัสสนา

การมีสติพิจารณาความเป็นไปของจิตว่า ขณะนี้จิตของเรามีราคะ โทสะ โมหะ หรือมีความฟุ้งซ่าน กำหนดรู้อย่างนี้ มีสติตั้งมั่นไม่เอนเอียงไปตามอารมณ์ของจิต ย่อมจะรู้เท่าทันว่าจิตก็เป็นเพียงสักว่าจิตเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เป็นต้น เรียกว่า จิตตานุปัสสนา

การมีสติกำหนด พิจารณาธรรมซึ่งเกิดกับจิตเป็นอารมณ์ ธรรมในที่นี้ท่านหมายเอานิวรณ์ 5 เมื่อธรรมเหล่านี้เกิดขึ้น ก็มีสติรู้เท่าทันความเป็นไป เรียกว่า ธรรมานุปัสสนา

วิเคราะห์ได้ว่า นักกีฬาระดับอัจฉริยะนี้ ต้องเคยฝึกสติปัฎฐาน 4 มาก่อนในภพชาติใด ภพชาติหนึ่งมาก่อน จนถึงระดับบรรลุฌาน เมือได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง ความรู้สึกนั้นยังฝังอยู่ในจิต ที่เราเรียกว่าพรสวรรค์ บวกกับการฝึกฝนฟื้นฟูใหม่ ผลที่ได้คือสติที่ไวกว่าปกตินั่นเอง ตัวอย่างหนึงเช่น ไมเคิล จอร์แดน อดีตนักบาสอันดับหนึ่งของโลก ขณะที่เขาลอยตัวไปที่แป้นเพื่อชู้ตลูกบาส ระหว่างลอยตัวอยู่กลางอากาศ เขาหลบหลีกการปัดลูกของคู่แข่งได้ทุกเสี้ยววินาที แสดงว่าสติของเขาจับอยูที่การเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา กายานุปัสสนา เป็นการกำหนดสติไปจับไว้ที่ความรู้สึกทางกาย การเคลื่อนไหวของกายในทุกอิริยาบถ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน เกา กระพริบตา ยุบหนอ พองหนอ เดินจงกรม กำหนดอิริยาบถย่อย ผู้ที่ฝึกกายานุปัสสนาเป็นนิจ แม้จะไม่บรรลุนิพพานแต่ เมื่อได้เกิดใหม่ เขาจะมีความสามารถทางกายเหนือกว่ามนุษย์ทั่วไป และบางครั้งก็สามารถส่งผลในชาติภพปัจจุบัน เช่น ปรมาจารย์ ตั๊กม้อ ได้ถ่ายทอดวิชากายานุปัสสนาให้พระวัดเส้าหลิน โดยกำหนดเป็นท่าวรยุทธแทนการเดินจงกรม ปรากฎว่าวิทยายุทธ์วัดเส้าหลินเป็นที่หนึ่งในยุทธจักร แม้จะถูกรุมล้อมจากคู่ต่อสู้พร้อมๆ กันถึงสิบแปดคนก็ยังทำร้ายไม่ได้ เพราะพระวัดเส้าหลินมีสติที่ไวกว่ามาก สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ทรงฝึกการยานุปัสสนาจากพระมหาเถรคันฉ่อง จนครั้งหนึ่งถูกทหารลักไวทำมู หลายร้อยคนรุมล้อมพระองค์อย่างโดดเดี่ยว แต่ก็ทำร้ายอะไรพระองค์ไม่ได้เช่นกัน อาชีพที่ต้องฝึก กายานุปัสสนา คือทหาร นักกีฬา นักมวย ดีไซเนอร์ นักดนตรี นักเต้น ฯลฯ



ไมเคิล จอร์แดน

พระมหาเถรคันฉ่อง



สมเด็จพระนเรศวรมหาราช


ปรมาจารย์ ตั๊กม้อ



อัจฉริยะของโลกที่เคยฝึกด้านเวทนานุปัสสนา จนสามารถจับความรู้สึกได้ แม้จะไม่บรรลุผลในชาตินี้เพราะกรรมเก่ายังตามมาสกัด เมื่อเกิดใหม่เขาจะมีความสามารถพิเศษด้านการจับความรู้สึก ตัวอย่างระดับโลก เช่น ซิกมุนด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ เขาสามารถจับความรู้สึกของมนุษย์ แล้วนำมาสร้างเป็นทฤษฎีจิตวิเคราะห์อันลือลั่น ทอม แฮ้งค์ส นักแสดงระดับอัจฉริยะ ที่บอกว่าเขาเล่นได้ขนาดนั้นเพราะสามารถจับความรู้สึกได้ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ที่ฝึก เวทนานุปัสสนายังสามารถล่วงรู้ไปถึงความรู้สึกของผู้อื่นได้ด้วย ที่เรียกว่า ญาญหยั่งรู้ใจคน เวทนานุปัสสนา คือการกำหนดสติไปจับไว้ที่ความรู้สึกทางใจ รู้เท่าทันความรู้สึก สุข ทุกข์ ดีใจ เสียใจ เจ็บ ปวด เกลียด โกรธ เฉยๆ ฯลฯ อาชีพทีควรฝึกอย่างยิ่งคือ นักแสดง นักประพันธ์ ผู้กำกับภาพยนต์ นักจิตวิทยา จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ


ซิกมุนด์ ฟรอยด์


ส่วนจิตตานุปัสสนา เป็นการกำหนดสติพิจารณาควารู้สึกทางจิตว่า ขณะนี้จิต มีราคะ โทสะ โมหะ หรือไม่ อย่างไร ผู้ที่บรรลุจิตตานุปัสสนาจะรู้เท่าทันอารมณ์ทุกชนิดของมนุษย์ อัจฉริยะของโลกที่เคยบรรลุ จิตตานุปัสสนาเช่น วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ เขาสามารถสร้างตัวละคร 1,200 แบบโดยตัวละครแต่ละตัวจะมีอารณ์ไม่ซ้ำแบบกันเลย คนที่ทำได้ขนาดนี้ต้องสมารถจับจิตได้เท่านั้น อาชีพที่ควรฝึกได้แก่ นักโฆษณา นักบริหาร ตำรวจ นักการเมือง นักเขียนบท ฯลฯ

วิลเลี่ยม เช็คสเปียร์

บทความจาก:

วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

วิปัสสนากรรมฐาน

วิปัสสนากรรมฐาน คือ กรรมฐานเป็นอุบายเรืองปัญญา, กรรมฐานทำให้เกิดการรู้แจ้งเห็นจริง หมายถึงการปฏิบัติธรรมที่ใช้ปัญญาพิจารณาเป็นหลัก
วิปัสสนากรรมฐาน บำเพ็ญได้ โดยการพิจารณาสภาวธรรมหรือนามรูป คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะอินทรีย์ให้เห็นตามความเป็นจริง คือ เห็นด้วยปัญญาว่าสภาวธรรมเหล่านี้ ตกอยู่ในสามัญลักษณะหรือไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
วิปัสสนากรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่มุ่งอบรมปัญญาเป็นหลักคู่กับ สมถกรรมฐาน ซึ่งมุ่งบริหารจิตเป็นหลัก ในคัมภีรทางพระศาสนาทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาทั่ว ๆ ไปมักจัดเอาวิปัสสนาเป็นแค่ สุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา เพราะในวิภังคปกรณ์พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างนั้น ทั้งนี้ก็ยังพอจะอนุโลมเอาวิปัสสนาว่าเป็นภาวนามยปัญญาได้อีกด้วย เพราะในฏีกาหลายที่ท่านก็อนุญาตไว้ให้ ซึ่งท่านคงอนุโลมเอาตามนัยยะพระสูตรอีกทีหนึ่ง และในอรรถกถาปฏิสัมภิทามรรคท่านก็อนุโลมให้เพราะจัดเข้าได้ในภาวนามัยบุญกิริยาวัตถุข้อ ๑๐.
รายละเอียดวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน หรือการเจริญปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่ การปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔ ดังบรรยายไว้โดยละเอียดในมหาสติปัฏฐานสูตร ในพระไตรปิฎก
ระหว่างปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อผู้ปฏิบัติกำลังมนสิการขันธ์ ๕ อย่างหนึ่งอย่างใดอยู่โดยไตรลักษณ์ ผู้ปฏิบัติอาจเกิดวิปัสสนูปกิเลส (คือ อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา ๑๐ อย่าง) ชวนผู้ปฏิบัติให้เข้าใจผิด คิดว่าตนได้มรรคผลแล้ว คลาดออกนอกวิปัสสนาวิถีได้

อารมณ์ของวิปัสสนา

ตามหลักการที่พระพุทธเจ้าและพระอรรถกถาจารย์ได้วางไว้ เราสามารถทราบอารมณ์ของวิปัสสนาได้ด้วยการไล่ตามวิถีจิตไปตามกฏเกณฑ์และตามหลักฐาน ซึ่งจะพบว่ามีทั้งปรมัตถ์และบัญญัตติเป็นอารมณ์ กล่าวคือ เมื่อคิดถึงวิปัสสนาภูมิ เช่น ธรรมะ ๒๐๑ เป็นต้นตอนที่ทำวิปัสสนาอยู่ ก็มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์, แต่เมื่อนึกถึงพระพุทธพจน์ เช่น ชื่อของธรรมะ ๒๐๑ หรือ อาการของขันธ์เช่น ไตรลักษณ์ หรือ อิริยาบถต่างๆ เป็นต้น เป็นเครื่องกำหนด วิปัสสนาก็จะมีบัญญัติเป็นอารมณ์.
วิปัสสนาภูมิ ตามที่แสดงไว้ในวิสุทธิมรรคนั้น ได้แก่ ธรรมมะ ๒๐๑ เป็นต้น เช่น
ขันธ์
อายตนะ ๑๒
ธาตุ ๑๘
อินทรีย์ ๒๒
อริยสัจ
ปฏิจจสมุปบาท ๑๒
วิปัสสนาภูมิที่ยกมานี้ ท่านเอามาจากพระไตรปิก เช่นจาก สติปัฏฐานสูตร(ม.มู.) สังยุตตนิกาย(สุตฺต.สํ.) วิภังคปกรณ์(อภิ.วิ.) เป็นต้น. ที่ทราบได้ว่า วิสุทธิมรรคยกมาพอเป็นตัวอย่าง เพราะท้ายของวิปัสสนาภูมิทั้ง ๖ นี้ มี "อาทิ"ศัพท์(แปลว่า เป็นต้น)อยู่ด้วย. ฉนั้น ในปรมัตถมัญชุสา วิสุทธิมรรคมหาฏีกา จึงอธิบายอาทิศัพท์ ว่า หมายถึงอาหาร ๔ เป็นต้นด้วย และกล่าวต่อไปอีกว่า ให้ท่านผู้อ่านเทียบเคียงธรรมะหมวดอื่นๆ ตามนัยนี้ได้อีก.
ในพระไตรปิฎก อรรถกถา และฏีกานั้น จะไม่มีการจำกัดให้วิปัสสนามีแต่ปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เพราะในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาก็มีทั้งจุดที่ท่านแสดงให้วิปัสสนามีอารมณ์เป็นปรมัตถ์และเป็นบัญญัติก็มี ส่วนมติว่า "วิปัสสนามีอารมณ์เป็นปรมัตถ์เท่านั้น" เป็นมติของอาจารย์ชาวพม่ารุ่นหลังซึ่งเชิญเข้ามาในสมัยของพระอาจารย์ อาจ อาสภมหาเถระ มีอาจารย์เตชิน และอาจารย์สัทธัมมโชติกะ เป็นต้น. ในฝ่ายไทยเมื่อตรวจสอบตามสายวัดป่า ก็พบว่า ไม่มีข้อบัญญัติว่า "วิปัสสนามีอารมณ์เป็นปรมัตถ์เท่านั้น"มาแต่เดิม.

การเรียนวิปัสสนากรรมฐาน

การเรียนวิปัสสนากรรมฐานนั้น ต้องเรียนศีลและสมาธิจนปฏิบัติได้มาก่อน หรืออาจเรียนไปพร้อมกันก็ได้ ซึ่งอาจจัดช่วงของการเรียนตามมหาสติปัฏฐานสูตรอรรถกถาได้เป็น ๒ ช่วงใหญ่ คือ

๑.ช่วงปริยัตติ

๑.อุคคหะ คือ การท่อง เพื่อทำให้จำวิปัสสนาภูมิ อันได้แก่ ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ อริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท อาหาร เป็นต้นได้ โดยเลือกท่องเฉพาะส่วนที่สนใจก่อนก็ได้และต้องจำให้คล่องปากขึ้นใจพอที่จะคิดได้เองโดยไม่ต้องเปิดหนังสือ.
๒.ปริปุจฉา คือ การหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้ได้รายละเอียดของวิปัสสนาภูมินั้น ๆ เพิ่ม ซึ่งอาจจะสงสัย หรือ ติดขัดอยู่ โดยอาจจะเปิดหนังสือค้น หรือไปสอบถามจากอาจารย์ผู้เชียวชาญชำนาญในสาขานั้น ๆ ก็ได้.
๓.สวนะ คือ การฟัง หรือ อ่านคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก เพื่อทำความเข้าใจหลักธรรมะโดยรวม ให้สามารถมองเห็นภาพรวมได้ชัดเจน.
๔.ธารณะ คือ การจำธรรมะ ตามที่ได้อุคคหะ ปริปุจฉา สวนะมาได้ เพื่อจะนำไปพิจารณาในช่วงปฏิบัติต่อไป.

๒.ช่วงปฏิบัติ

๑.สังวระ คือ การปฏิบัติศีล.
๒.สมาปัตติ คือ การปฏิบัติสมาธิให้ได้ อุปจาระหรืออัปปนา.
๓.สัมมสนะ คือ การปฏิบัติวิปัสสนา คือ พิจารณาปัจจัตตลักษณะและสามัญญลักษณะด้วยการคิดหน่วงเอาธรรมะที่ได้ปริยัตติมานั้นมาแยกแยะหาความสัมพันธ์กันด้วยปัจจัตลักษณะ และเพ่งไตรลักษณ์ ในธรรมะที่ได้ปริยัตติมานั้นอีก ด้วยวิปัสสนาญาณซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่า ธัมมนิชฌานักขันติญาณ. ในที่นี้ เฉพาะสัมมสนะนี้เท่านั้นที่เป็นช่วงปฏิบัติวิปัสสนา.

สถานที่สำหรับเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตามมหาสติปัฏฐานสูตรบรรยายไว้สามแห่ง คือ ป่า โคนต้นไม้ ที่ว่างเปล่า (สุญญาคาร เรือนว่าง) แต่พึงทราบว่า ตามกัมมัฏฐานคหณนิทเทส ในวิสุทธิมรรคนั้น เนื่อจากท่านกล่าวอุปสรรคของวิปัสสนาให้มีแค่อย่างเดียว คือ การฝึกทำฤทธิ์เดชมีการเหาะเหิรเดินอากาศเป็นต้น(ถ้าแค่ฌานนั้นไม่นับเพราะง่ายกว่าฤทธิ์มาก) ฉะนั้น วิปัสสนาจึงปฏิบัติได้ทุกที่ แต่ที่ๆเหมาะสมที่สุด และควรจะหาให้ได้ ก็คือ ป่า โคนไม้ เรือนว่าง ห่างไกลคน โล่ง ๆ นั่นเอง เพราะจะทำให้ศีลและสมาธิดีกว่ามากมายยิ่งนัก ปัญญาก็จะกล้าขึ้นได้ไวไปด้วยเช่นกัน.

ประโยชน์ของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานมีประโยชน์มาก คือ
๑.ทำคนให้ฉลาด เพราะจะรู้จักทั้งบัญญัติและปรมัตถ์เป็นอย่างดี ละเอียดรอบคอบขึ้นมาก.
๒.ทำคนให้มีศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม
๓.ทำคนให้สนิทสนมกลมกลืนกัน กรุณาเอ็นดูสงสารกัน พลอยยินดีอนุโมทนาสาธุการเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี
๔.ทำคนให้เว้นจากเบียดเบียนกัน เว้นจากการเอารัดเอาเปรียบกัน
๕.ทำคนให้รู้จักตัวเอง และรู้จักปกครองตัวเอง
๖.ทำคนให้ว่านอนสอนง่าย ไม่มานะถือตัว ไม่เย่อหยิ่งจองหอง
๗.ทำคนให้หันหน้าเข้าหากัน เพราะต่างฝ่ายต่างลดทิฏฐิมานะลง
๘.ทำคนให้หนักแน่นในกตัญญูกตเวทิตา
๙.ทำคนให้เป็นผู้ประเสริฐ เพราะเหตุว่า การปฏิบัติธรรมนี้ย่อมเป็นไปเพื่อคุณสมบัติเหล่านี้ คือ
เพื่อละนิวรณ์
เพื่อละกามคุณ
เพื่อหัดให้คนเป็นผู้รู้จักประหยัด
เพื่อละอุปาทานขันธ์ ๕
เพื่อละสังโยชน์เบื้องต่ำ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท
เพื่อละคติ ๕ คือ นรก ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย มนุษย์ เทวดา
เพื่อละความตระหนี่ ๕ คือ ตระหนี่ที่อยู่ ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ลาภ ตระหนี่วรรณะ ตระหนี่ธรรม
เพื่อละสังโยชน์เบื้องบน คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา
เพื่อละตะปูตรึงใจ ๕ คือ สงสัยในพระพุทธ สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ สงสัยในสิกขา ความโกรธไม่พอใจในเพื่อนพรหมจรรย์
เพื่อละเครื่องผูกพันจิตใจ ๕ คือ ไม่ปราศจากความชอบใจทะยานอยากในกาม ในรูป ความสุขในการกิน การนอน การรักษาศีลเพื่อเทพนิกาย
เพื่อก้าวล่วงความโศกเศร้าเสียใจ (ทุกข์ทั้งหลาย) ดับทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน
อานิสงส์อย่างสูงให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างกลางก็ให้สำเร็จเป็นพระอนาคามี สกทาคามี โสดาบัน อย่างต่ำไปกว่านั้นที่เป็นสามัญ ก็เป็นผู้ที่มีคติเที่ยงที่จะไปสู่สุคติ
ชื่อว่า ได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยปฏิบัติบูชา
ชื่อว่า เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า
ชื่อว่า เป็นผู้ได้บำเพ็ญสิกขา ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท เพราะมีสติอยู่กับรูปนามเสมอ ความไม่ประมาทนั้นคือ อยู่ไม่ปราศจากสตินั่นเอง
ชื่อว่า ได้เป็นผู้ทรงธรรม
ชื่อว่า ได้เป็นผู้ปฏิบัติถูกต้อง
ชื่อว่า ได้ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ทางสายกลาง
ชื่อว่า ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง คือถึงด้วยอำนาจแห่งการปฏิบัติ คือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตั้งแต่ ภังคญาณ เป็นต้นไป จนถึง มรรคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ

วิธีนั่งวิปัสสนา(อย่างง่าย)

๑. อานาปานสติ อสุภกรรมฐาน พรหมวิหาร ๔

ขอให้ทุกคนนั่งตัวตรงสบาย ๆ ไม่ต้องเกร็งตัว ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทั้งหมด หุบปากสนิท ลิ้นแตะเพดานไว้นิดหนึ่ง หลับตาเบา ๆ เหมือนกับเรามองย้อนเข้าไปในตัวเอง คือมองขึ้นไปบนศีรษะจนกระทั่งมันโค้งลงไปในอก ลงไปอยู่ในท้อง
หายใจเข้านึก พุท หายใจออกนึกว่า โธ หายใจเข้าผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเรา ตามไปกับลมหายใจเข้าออก
หายใจเข้า รู้อยู่ว่าหายใจเข้า พร้อมกับคำภาวนา หายใจออก รู้อยู่ว่าหายใจออก พร้อมกับคำภาวนา จะใช้คำภาวนาว่าอะไรก็ได้ แล้วแต่เราชอบ ให้ความรู้สึกทั้งหมดคือจิตของเรา อยู่กับลมหายใจเข้าออกเท่านั้น
ถ้ามันคิดถึงเรื่องอื่น นอกเหนือจากลมหายใจเข้าออก นอกเหนือจากคำภาวนาเมื่อไร ดึงมันกลับเข้ามาอยู่กับลมหายใจเข้าออก อยู่กับคำภาวนาเมื่อนั้น รู้ตัวเมื่อไรดึงมันกลับมา ทำให้เคยชินไว้ นานไปมันก็จะทรงตัวได้เอง
คราวนี้กำหนดนึกถึง ภาพพระพุทธรูปที่เรารักเราชอบ จะเป็นแบบพระสงฆ์ แบบพระพุทธ แบบพระวิสุทธิเทพ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ อยู่ตรงที่สุดของลมหายใจ คือแถว ๆ สะดือ หายใจลงไปสุดตรงไหนก็ตรงนั้นแหละ เป็นพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ใสสว่างอยู่ในนั้น
หายใจเข้า พระพุทธรูปก็สว่างขึ้น หายใจออกพระพุทธรูปก็สว่างขึ้น หายใจเข้า ภาพพระก็สว่างขึ้น หายใจออก ภาพพระก็สว่างขึ้น จนกระทั่งความสว่างของพระนั้นกลบกลืนเราไปด้วย ตัวเราสว่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระ
หายใจเข้า พระสว่างขึ้นตัวเราสว่างขึ้น หายใจออก พระสว่างขึ้นตัวเราสว่างขึ้น กำหนดใจให้นิ่งอยู่ตรงนี้ครู่หนึ่ง คราวนี้เมื่อหายใจเข้าพระสว่างขึ้น หายใจออกให้พระไหลตามลมหายใจของเราออกมา แต่ไม่ได้มาที่ปลายจมูก ให้ท่านขึ้นไปอยู่บนศีรษะของเราเลย
ภาพพระจะขยายใหญ่ขึ้น อยู่บนศีรษะของเรา หายใจเข้าภาพพระเล็กลง ลงไปอยู่ที่ท้อง หายใจออกภาพพระใหญ่ขึ้น ขึ้นไปอยู่บนศีรษะ หายใจเข้าภาพพระเล็กลง แต่ยังคงสว่างไสวเป็นปกติ ลงไปอยู่ในท้อง หายใจออกภาพพระขยายใหญ่ขึ้น ไปสว่างสดใสอยู่บนศีรษะของเรา
กำหนดความรู้สึกเท่านั้น เป็นความรู้สึกไม่ใช่ตาเห็น ขอให้เรามั่นใจว่ามีพระอยู่กับเรา จะเห็นชัดเจนรึไม่ชัดเจนก็ตาม เอาแค่ความมั่นใจที่สัมผัสได้เท่านั้น หายใจเข้าภาพพระไหลลงไปอยู่ที่ท้อง หายใจออก ภาพพระลอยขึ้นไปอยู่บนศีรษะ หายใจเข้าภาพพระเล็กลง หายใจออกภาพพระใหญ่ขึ้น
คราวนี้ให้ทุกคนกำหนดภาพพระให้นิ่งอยู่บนเหนือศีรษะ น้อมจิตน้อมใจกราบลงตรงนั้น ตั้งใจว่านั่นคือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่กำลังมาโปรดเราอยู่ เราต้องมีความดีพอเพียง พระองค์ท่านถึงเสด็จมาโปรดเรา มาสงเคราะห์เรา
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น พระองค์ท่านไม่อยู่ที่ไหนนอกจากอยู่บนพระนิพพาน เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน
จากนั้นกำหนดใจคิดต่อจากที่เคยสอนวันก่อน วันก่อนนั้น เราดูว่าร่างกายนี้มันไม่เที่ยงอย่างไร มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง และสลายตัวไปในที่สุด
ร่างกายนี้มีแต่ความทุกข์ เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ พลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ เศร้าโศกเสียใจเป็นทุกข์ ปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์ กระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจเป็นทุกข์
วันก่อนเราพิจารณาแล้วว่ามันไม่เที่ยงจริง ๆ เป็นเด็กเล็ก เป็นเด็กโต เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นวัยกลางคน เป็นคนชรา ในที่สุดก็ตายไป อาจจะตายตั้งแต่ตอนเด็กก็ได้ ตอนหนุ่มตอนสาวก็ได้ ตอนชราก็ได้
แล้วมันยังมีแต่ความทุกข์ยากอยู่ตลอดเวลา อย่างน้อย ๆ ก็ต้องเจ็บป่วย หนาวร้อน หิวกระหาย ร่างกายสกปรก ต้องคอยดูแลมันอยู่ต้องทำหน้าที่การงาน บริหารตัวเอง บริหารหมู่คณะ ต้องกระทบกระทั่งกับผู้ร่วมงาน ทั้งหมดนี้มีแต่ความทุกข์
คราวนี้เรามาดูจุดสุดท้าย ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ร่างกายนี้ ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา” ต้องพยายามทบทวนจุดนี้บ่อย ๆ ให้มากไว้ เพื่อสภาพจิตจะได้ยอมรับว่า มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริง ๆ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ร่างกายเรานี้ประกอบขึ้นจากธาตุ ๔ คือ มหาภูตรูป ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ส่วนที่แข็ง เป็นแท่งเป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน จับได้ต้องได้ เรียกว่า ธาตุดิน นึกตามไป ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เส้นเอ็น กระดูก อวัยวะภายในทั้งหลายอย่างปอด ตับ ม้าม หัวใจ กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ ลำไส้เล็ก เหล่านี้เป็นต้น พวกนี้เป็นธาตุดินแยกมันไว้ส่วนหนึ่ง
ส่วนที่ไหลไปมาในร่างกายของเรา เรียกว่า ธาตุน้ำ มี เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี ปัสสาวะ เหงื่อ ไขมันเหลว แยกมันไว้อีกส่วนหนึ่ง
ส่วนที่พัดไปมาในร่างกายของเรา เรียกว่า ธาตุลม คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมที่ค้างในท้อง ในไส้ในกระเพาะ เรียกว่า แก๊ส ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย เรียกว่าความดันโลหิต เหล่านี้แยกไว้อีกส่วนหนึ่ง
ความอบอุ่นที่มีอยู่ในร่างกาย เรียกว่า ธาตุไฟ ได้แก่ ไฟธาตุ ที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต ที่เผาผลาญร่างกายให้ทรุดโทรมลง ที่สันดาปช่วยย่อยอาหาร ที่ให้ความอบอุ่นไปทั่วร่างกายของเราแยกไว้อีกส่วนหนึ่ง
ส่วนแรกเป็นธาตุดิน กองมันไว้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด อวัยวะภายในภายนอกทั้งหลายทั้งปวง
ส่วนที่สองคือธาตุน้ำ ได้แก่ เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ปัสสาวะ ไขมันเหลว แยกไว้อีกกองหนึ่ง
ส่วนที่เป็นธาตุลม คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมในท้อง ในไส้ ลมที่พัดไปเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย แยกไว้อีกส่วนหนึ่ง
ส่วนที่ให้ความอบอุ่นในร่างกาย เป็นธาตุไฟ คือ ไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต ไฟธาตุที่เผาผลาญร่างกายให้ทรุดโทรมลง ธาตุที่ช่วยสันดาปย่อยอาหาร แยกไว้อีกส่วนหนึ่ง
นี่คือดิน นี่คือน้ำ นี่คือลม นี่คือไฟ แล้วตัวเราของเราอยู่ที่ไหน เมื่อเอาดิน น้ำ ไฟ ลม เหล่านี้มาประกอบกันเข้า มีปัญจสาขา คือหนึ่งศีรษะ สองแขน สองขา จิตคือตัวเรามาอาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว ตามบุญตามกรรมที่เราสร้างมา เราก็ไปยึดไว้ นี่ตัวกู นี่ของกู
แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ มันเป็นแค่เปลือก เหมือนกับเปลือกหอย เหมือนกับกระดองเต่า เหมือนกับรถยนต์ เปลือกหอยกับกระดองเต่านั้น เป็นคนละเรื่องกับตัวหอยหรือตัวเต่า รถยนต์นั้นเป็นคนละเรื่องกับคนขับรถ
ตอนนี้เราเห็นแล้วว่ามันเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ เท่านั้น ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเลย จะเป็นหญิงเป็นชาย เป็นคนเป็นสัตว์ ล้วนแล้วแต่เกิดจากธาตุ ๔ นี้ทั้งสิ้น ประกอบไปด้วย ปัญจสาขา หนึ่งศีรษะ สองแขน สองขา ประกอบไปด้วยทวารทั้ง ๙ ที่มีแต่ความสกปรกหลั่งไหลออกมาเป็นปรกติ
ถ้าธาตุใดธาตุหนึ่งบกพร่อง มันก็เจ็บ มันก็ป่วย ถ้าหากว่าขาดธาตุใดธาตุหนึ่งไปเลย มันก็ตาย ถ้าธาตุลมขาดไป ธาตุไฟก็ดับ เมื่อไม่มีธาตุไฟคอยควบคุม คอยเผาผลาญไว้ ธาตุน้ำก็ล้นเกิน ดันธาตุดินที่เป็นส่วนใหญ่ของร่างกายอืดพองขึ้นมา
ผ่านกาลเวลานานเข้า ธาตุน้ำยิ่งล้นเกินมากเข้า ร่างกายก็ปริก็แตก มีแต่น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ไหลโทรมไปทั้งกาย สัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนกแร้ง นกตะกรุม สุนัข เหี้ย ตะกวดทั้งหลาย ก็มาฉีกมาทิ้ง มาดึง มาลากเอาไปกินเป็นอาหาร
ตับไต ไส้ ปอด เนื้อหนังมังสา โดนทึ้งกระจัดกระจาย ส่งกลิ่นเหม็นตลบไปไกล หลาย ๆ ร้อยเมตร นี่คือสภาพร่างกายที่แท้จริงของเรา นี่คือสภาพร่างกายที่แท้จริงของคนที่เรารัก นี่คือสภาพร่างกายที่แท้จริงของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดูมันไว้ให้ชัดเจน
พอถูกฉีกถูกทึ้ง ถูกดึง ถูกลาก เนื้อหนังมังสา หมดไปแล้ว โครงกระดูกอาจจะยังควบกันอยู่เพราะเส้นเอ็นยังมี เมื่อผ่านการชะของฝน ผ่านการเผาของแดด ผ่านการพัดโกรกของลม เส้นเอ็นก็ค่อย ๆ เปื่อยสลายไป
โครงกระดูกก็หลุดลุ่ยกระจัดกระจาย กะโหลกศีรษะกระเด็นไปทางหนี่ง กระดูกฟันไปทางหนี่ง กระดูกกรามล่างไปทางหนึ่ง กระดูกคอที่เป็นข้อ ๆ ไปทางหนึ่ง กระดูกไหปลาร้าที่เหมือนกับสามเหลี่ยมสองอัน มาชนกันไปทางหนี่ง
กระดูกหัวไหล่ กระดูกต้นแขน กระดูกข้อศอก กระดูกปลายแขน กระดูกข้อมือ กระดูกฝ่ามือ ตลอดจนเล็บมือ กระจัดกระจายไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลังที่เป็นข้อ ๆ มีกระดูกซี่โครงยึดโยงอยู่กับกระดูกหน้าอก ก็หลุดเป็นข้อ ๆ หลุดเป็นวง ๆ กลิ้งเกลื่อนไป
กระดูกบั้นเอวที่เป็นข้อ ๆ สำหรับก้มได้เงยได้ มีทั้งข้อต่อกระดูกและหมอนรองกระดูก ก็หลุดลุ่ยเป็นชิ้น ๆ กระดูกเชิงกราน หรือส่วนที่เราใช้นั่ง โค้ง ๆ เว้า ๆ มีช่องว่างอยู่ตรงกลาง กระเด็นทางหนึ่ง กระดูกก้นกบที่เป็นปลายแหลม ๆ เป็นชิ้น ๆ กระเด็นไปทางหนึ่ง
กระดูกต้นขา กระดูกท่อนขา กระดูกหัวเข่า กระดูกหน้าแข้ง กระดูกข้อเท้า กระดูกฝ่าเท้า กระดูกส้นเท้า กระดูกนิ้วเท้า ตลอดจนเล็บเท้าทั้งปวง หลุดลุ่ยกระจัดกระจาย ไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นรูปร่างอีกเลย
ลองดูย้อนกลับมาอีกทีหนึ่ง จากเล็บเท้า นิ้วเท้า ฝ่าเท้า ข้อเท้า ส้นเท้า หน้าแข็ง หัวเข่า ต้นขา โคนขา เชิงกราน ก้นกบ บั้นเอว สันหลัง หน้าอก ซี่โครง ไหปลาร้า หัวไหล่ ต้นแขน ข้อศอก ปลายแขน ข้อมือ ฝ่ามือ นิ้วมือ เล็บมือ ต้นคอ กรามล่าง ฟัน กะโหลกศีรษะ
ประกอบขึ้นมาเป็นตัวใหม่ แล้วปล่อยมันสลายลงไป สลายลงไปแล้วประกอบขึ้นมาเป็นตัวใหม่ จากนั้นปล่อยมันสลายลงไปอีก ดูมันอยู่อย่างนี้ให้เห็นจริงว่า นี่คือสภาพที่แท้จริงของร่างกายของเรา
สภาพที่แท้จริงของความเป็นหญิง ความเป็นชาย ความเป็นคน ความเป็นสัตว์ มันเหมือนกันทั้งสิ้น คือเป็นเพียงธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่เรายืมโลกมาใช้ชั่วคราว ถึงเวลาก็เสื่อมสลายตายพังคืนให้แก่โลกไปตามเดิม
ระหว่างที่อาศัยมันอยู่ก็มีแต่ความไม่เที่ยง มีแต่ความทุกข์ ในที่สุดมันก็เสื่อมสลายตายพังไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย จากกระดูกใหม่ ๆ สีขาว ผ่านการเผาของแดด ผ่านการพัดโกรกของลม ผ่านการชะของฝน ก็ค่อย ๆ เก่าลง ๆ
ในที่สุดก็เปื่อยสลาย กลายเป็นฝุ่น จมลงดินไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่อีก แม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่มี ตัวเรา ตัวเขา คน สัตว์ วัตถุธาตุ สิ่งของ บ้าน เรือนโรง ภูเขา ป่าไม้ อะไรก็ตาม ไม่มีเหลืออยู่เลย แม้แต่นิดเดียวก็ไม่มี สลายทั้งหมด ตายทั้งหมด พังทั้งหมด คงอยู่ไม่ได้ เกิดขึ้นมาเมื่อไรก็เป็นอย่างนี้ ไม่เที่ยงอย่างนี้ เป็นทุกข์อย่างนี้ ไม่มีตัวตน ให้ยึดมั่นอย่างนี้
ดังนั้น เราควรจะไปอยู่ที่ไหน ถึงจะพ้นจากความทุกข์นี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านค้นพบว่า มีสถานที่ที่เป็นเอกกันตบรมสุข เป็นสถานที่ที่หลุดพ้นไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องทุกข์อีก นั่นคือ พระนิพพาน
ให้ทุกคนเอากำลังใจ เกาะภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครยกจิตขึ้นพระนิพพานได้ ขึ้นไปกราบพระพุทธเจ้าบนนั้น ตั้งใจเอาไว้ว่า ถ้าหากว่าเราตาย เราขอมาอยู่ที่นี่แห่งเดียว เอาใจจดจ่ออยู่เบื้องพระพักตร์องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้ามันยังหายใจ กำหนดรู้ว่ามันหายใจอยู่ ถ้ามันไม่หายใจ กำหนดรู้ว่ามันไม่หายใจ ถ้ามันภาวนาอยู่ กำหนดรู้ว่ามันภาวนาอยู่ ถ้ามันไม่ภาวนา กำหนดรู้ว่ามันไม่ภาวนา เอาจิตจดจ่อมั่นคงอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพานนั้น
ตั้งใจแผ่เมตตาไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกท่านล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งสิ้น เราปรารถนาความสุขอย่างไร เขาทั้งหลายก็ปรารถนาความสุขอย่างนั้น เราปรารถนาที่จะพ้นทุกข์อย่างไร เขาก็ปรารถนาที่จะพ้นทุกข์อย่างนั้น
กำหนดภาพพระพุทธเจ้าให้สว่างไสว แผ่กว้างออกไปเรื่อย ๆ คิดว่านั่นคือความเมตตาจากเรา ที่ส่งไปสู่สรรพสัตว์โดยทั่วหน้า
กำหนดใจกว้างออกไป กว้างออกไป ไปจนถึงทุกจักรวาล ไปทุกดวงดาว ไปทุกภพทุกภูมิ ตั้งแต่สัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา มาร พรหม จนกระทั่งพระทั้งหมดบนพระนิพพาน พระเมตตาแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแผ่ไปถึงท่านทั้งหลายเหล่านั้น ทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า ตั้งใจว่า
“...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงอย่าได้มีเวร มีกรรมและเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ขอท่านทั้งหลายเหล่านั้นพึงเสียสละให้ปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ยากยิ่งกว่าตน ให้พ้นทุกข์ เพื่อยังโลกทั้งหลายไปสู่สันติสุข อันสมบูรณ์ด้วยเถิด...”
ตอนนี้ตัวเรากลมกลืนเป็นอันหนี่งอันเดียวกับ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระนิพพาน ตั้งใจว่า วันนี้ถ้าถึงอายุขัยตายไป เราก็ขออยู่ ณ สถานที่นี้ อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่นี่ คือพระนิพพาน
ตั้งใจว่า ในวันนี้ เราจะประกอบกิจการงานอะไรก็ตาม ถ้าเกิดอุบัติเหตุอันตรายถึงแก่ชีวิตลง เราขอมาอยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่นี่ คือพระนิพพาน กำหนดใจสบาย ๆ เอาไว้ตรงจุดนี้
แล้วค่อย ๆ คลายสมาธิออกมา โดยกำหนดสติรู้อยู่ตลอดเวลา แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งสัก ๒๐ – ๓๐ เปอร์เซ็นต์ นึกถึงภาพพระ นึกถึงพระนิพพานไว้ดังนี้ อีก ๗๐ – ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เราจะทำหน้าที่ของเราคือ สวดมนต์ - ทำวัตร ต่อไป
ตั้งใจว่า ผลานิสงส์ที่ได้จากการเจริญกรรมฐานก็ดี จากการสวดมนต์ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ก็ดี ลูกตั้งความปรารถนาไว้หนึ่งเดียวคือ พระนิพพานนี้ อย่าลืมแบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งเกาะไว้ตลอดเวลา แม้จะทำอะไรก็ตาม อย่าทิ้งความรู้สึกจากพระ อย่าทิ้งความรู้สึกจากพระนิพพาน
พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันเสาร์ที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๖

งานทำบุญถวายหลวงปู่สาย วัดท่าขนุน มีทุกวันที่ ๑๔ ของเดือน แต่งานใหญ่จริง ๆ ต้อง ๑๔ กันยายน ของทุกปี
๒. อานาปานสติ พุทธานุสติ

ทุกคนนั่งในท่าสบายของตัว นั่งตัวตรง ๆ บาลีบอกว่า “อุชุ กายํ” ตั้งกายให้ตรง แต่ไม่ใช่เกร็งร่างกาย เป็นการนั่งตัวตรงตามสบาย ๆ อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง กล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่ง อย่าไปเกร็ง อย่าไปฝืนมัน ปิดปากลงเบา ๆ ปลายลิ้นแตะเพดานไว้ แตะไม่ใช่กด
หลับตาลง เหมือนกับเรานึกย้อนเข้าไปในกะโหลกศีรษะของเรา จนกระทั่งมันค่อย ๆ ไหลลงไปในอก ลงไปสุดที่ท้อง กำหนดความรู้สึกทั้งหมด อยู่ที่สุดของลมหายใจที่ท้อง หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ หรือใช้คำภาวใดก็ได้ที่เราถนัด ที่แนะนำให้ใช้พุทโธ เพราะว่าสั้นดี สามารถจับคำภาวนาได้ง่าย
กำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก ออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก การกำหนดลมหายใจนั้น ไม่ใช่การบังคับลมหายใจ เป็นการกำหนดความรู้สึกตามลมหายใจเข้าไป
ร่างกายมันต้องการลมหายใจแรงก็ดี ต้องการเบาก็ดี ต้องการยาวก็ดี ต้องการสั้นก็ดี เราแค่กำหนดรู้เท่านั้น เอาความรู้สึกทั้งหมดของเรา อยู่กับลมหายใจเข้าออกเฉพาะหน้า ถ้ามันส่งไปที่อื่น ไปนึกถึงเรื่องอื่น ให้ดึงมันกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกใหม่
พอมันเคลื่อนไปเราก็ดึงมันกลับมา พอมันเคลื่อนไปเราก็ดึงมันกลับมา เมื่อทำไปนาน ๆ ความคล่องตัวมีมากขึ้น อารมณ์ใจเริ่มทรงตัว แค่นึกเท่านั้น ความรู้สึกทั้งหมดก็จะอยู่กับลมหายใจเข้าออกทันที
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นพื้นฐานใหญ่ของกรรมฐานทั้งปวง ถ้าไม่มีลมหายใจเข้าออก สติจะไม่ตั้งมั่นทรงตัว สมาธิจะเกิดได้ยาก ดังนั้น การปฏิบัติในทุกวัน เราทิ้งลมหายใจเข้าออกไม่ได้ หายใจเข้ารู้อยู่ หายใจออกรู้อยู่
คราวนี้กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเรา ไว้ที่จุดสุดของลมหายใจ คือไว้ที่ท้อง มันจะเป็นฐานที่ ๓ ฐานที่ ๗ อย่างไรแล้วแต่เราถนัด ให้รู้ว่าลมหายใจมันลงไปสุดตรงนั้น
จากนั้น นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เรารักเราชอบมากที่สุด จะเป็นพระปางอะไรก็ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน อย่างไรก็ได้ เป็นภาพพระพุทธเจ้าในลักษณะพระสงฆ์ก็ได้ ในลักษณะพระวิสุทธิเทพก็ได้ เอาภาพพระนั้นไว้ตรงที่สุดของลมหายใจ
เมื่อหายใจเข้า ให้ไปสุดที่พระพุทธรูป เมื่อหายใจออกพระพุทธรูปไหลตามลมหายใจออกมา หายใจเข้าพระพุทธรูปองค์เล็ก ๆ ใสสว่าง ไหลตามลมเข้าไป ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกภาพพระพุทธรูป ไหลออกจากท้องผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก หายใจเข้าภาพพระไหลเข้า สว่างไสวอยู่ในท้อง หายใจออกภาพพระไหลออก สว่างไสวอยู่ที่ปลายจมูก ทำอย่างนี้ให้ได้ระยะหนึ่ง
แล้วกำหนดใจให้นิ่งอยู่ที่ภาพพระซึ่งอยู่ในท้อง หายใจเข้าพระก็สว่างขึ้น หายใจออกพระก็สว่างขึ้น หายใจเข้าพระก็สว่างขึ้น หายใจออกพระก็สว่างขึ้น ให้อยู่นิ่งอยู่ที่ท้อง กำหนดความรู้สึกหยุดอยู่ที่ท้องแห่งเดียว
คราวนี้กำหนดความรู้สึก เลื่อนภาพพระขึ้นมาตรงจุดกลางอก ตรงที่เรารู้สึกว่าลมหายใจผ่านแรงที่สุด หายใจเข้าลมหายใจเข้าที่จมูก ผ่านองค์พระที่ใสสว่างอยู่กลางอก ลงไปสุดที่ท้อง
ความรู้สึกส่วนใหญ่ อยู่ที่องค์พระที่อยู่กลางอก หายใจออกจากท้อง ผ่านภาพพระที่สว่างไสวอยู่กลางอก มาสุดที่ปลายจมูก หายใจเข้า ภาพพระอยู่กลางอกสว่างไสว หายใจออกภาพพระที่อยู่กลางอกสว่างไสว
แล้วกำหนดความรู้สึก เลื่อนภาพพระขึ้นมาอยู่ในศีรษะของเรา จะชัดหรือไม่ชัดไม่เป็นไร ให้เรามั่นใจว่ามีภาพพระอยู่ก็ใช้ได้ อย่าไปใช้สายตาบังคับเห็น เอาความรู้สึกเท่านั้น ว่านั่นเป็นองค์พระ ภาพพระอยู่ในศีรษะของเรา
หายใจเข้าลมหายใจเข้าที่จมูก ภาพพระสว่างไสวอยู่ในศีรษะของเรา ลมหายใจผ่านอกลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกลมหายใจออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอกลงมาสุดที่ปลายจมูก แต่ภาพพระนั้นสว่างไสวอยู่ในศีรษะของเรา หายใจเข้าภาพพระในกะโหลกศีรษะของเราสว่างไสวไปทั่ว หายใจออกภาพพระในกะโหลกศีรษะของเราสว่างไสวไปทั่ว
คราวนี้กำหนดความรู้สึกทั้งหมด เลื่อนภาพพระไปตรงหน้าของเรา กะว่าอยู่ห่างสักประมาณช่วงแขนเอื้อมถึง ไปสว่างไสวลอยอยู่ข้างนอกตรงหน้า หายใจเข้าภาพพระก็สว่าง หายใจออกภาพพระก็สว่าง เอาใจจดจ่ออยู่กับภาพพระตรงหน้าของเรา อย่าใช้สายตา ให้กำหนดความรู้สึกสบาย ๆ
ขอย้ำอีกทีอย่าใช้สายตา จะเห็นชัดหรือไม่ชัดก็ตามให้เรารู้สึกว่ามีภาพพระอยู่ตรงหน้าก็ใช้ได้แล้ว หายใจเข้าภาพพระตรงหน้าเราสว่างไสว หายใจออกภาพพระตรงหน้าเราสว่างไสว
จากนั้นกำหนดความรู้สึกทั้งหมด เลื่อนภาพพระไปอยู่ด้านหลังของเรา ในระดับเดียวกับศีรษะของเรา หันหน้ามาด้านเดียวกับเรา หายใจเข้านึกถึงภาพพระข้างหลังสว่างไสวอยู่ หายใจออกนึกถึงภาพพระข้างหลังที่สว่างไสวอยู่
พุท...โธ ภาพพระข้างหลังสว่างไสว พุท...โธ ภาพพระข้างหลังสว่างไสว นึกอยู่อย่างนั้น ความรู้สึกอย่าให้เลื่อนไปที่อื่น ถ้าจะรู้ลมหายใจเข้าออกพร้อมคำภาวนา ให้เป็นความรู้สึกส่วนน้อย สัก ๒ ส่วน ๓ ส่วน เท่านั้น อีก ๗ ส่วน ๘ ส่วนของเรา ให้กำหนดนิ่งอยู่ที่ภาพพระเท่านั้น
แล้วกำหนดความรู้สึกทั้งหมด เลื่อนภาพพระขึ้นไปอยู่บนศีรษะ ภาพพระลอยอยู่เหนือศีรษะของเรา สว่างไสวอยู่ตรงนั้น ตอนนี้เราไม่ต้องไปสนใจเรื่องปลายจมูก หายใจเข้าคิดว่า ลมหายใจขาวสะอาดไหลจากพระ ผ่านกระหม่อมของเรา ลงไปที่อก ลงไปที่ท้อง
หายใจออก ลมหายใจไหลออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก ออกไปทางกระหม่อม สุดที่ภาพพระนั้น หายใจเข้า เหมือนเราหายใจจากเหนือศีรษะลงไป หายใจออก เหมือนกับออกไปที่เหนือศีรษะ ที่ตรงภาพพระนั้น ให้กำหนดความรู้สึกส่วนใหญ่อยู่ที่ภาพพระ
ภาพพระสว่างไสวอยู่เหนือศีรษะของเรา หายใจเข้า ลมหายใจที่ขาวใสสะอาด ไหลตามลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก ลมหายใจที่ขาวใสสะอาด ไหลออกไปสุดที่องค์พระ กำหนดความสว่างไสวของพระลงมาให้คลุมกายเราทีละน้อย ๆ
อย่ากำหนดพรวดพราดทีเดียว ค่อย ๆ สว่างลงมาที่ศีรษะ สว่างลงมาถึงลูกตา ถึงระดับดวงตา ถึงระดับใบหู ถึงระดับคาง สว่างลงไปถึงหัวไหล่ ถึงต้นแขน ถึงกลางอก ถึงท้อง ถึงเชิงกราน ถึงตลอดทั้งร่างกาย
หายใจเข้า ภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราก็สว่างขึ้น หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น ตัวเราก็สว่างขึ้น หายใจเข้าภาพพระสว่าง ตัวเราสว่าง หายใจออกภาพพระสว่าง ตัวเราสว่าง แล้วกำหนดความรู้สึกใหม่
หายใจเข้า ภาพพระไหลจากศีรษะลงไปอยู่ที่ท้อง จากองค์ใหญ่เป็นเล็ก ลงไปสุดอยู่ที่ท้อง หายใจออก ภาพพระไหลอกจากท้อง ขึ้นไปอยู่บนศีรษะ กลายเป็นองค์ใหญ่ หายใจเข้าองค์เล็กลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกองค์ใหญ่ไปอยู่ที่ศีรษะ พุท...โธ ภาพพระใส ๆ ไปอยู่ที่ท้องเป็นองค์เล็ก พุท...โธ ภาพพระใส ๆ ขึ้นไปอยู่ที่ศีรษะเป็นองค์ใหญ่
คราวนี้ให้กำหนดใจนิ่งอยู่ที่ภาพพระบนศีรษะ น้อมจิตน้อมใจ กราบลงตรงจุดนั้น ให้ตั้งใจว่า นั่นคือ “องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ขณะนี้พระองค์ท่านเสด็จมาโปรดเราแล้ว
การที่จะเกิดมาเป็นคนสักชาติหนึ่งก็แสนยาก เลื่อมใสแล้วจะปฏิบัติตามให้ได้ผลก็แสนยาก
ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ปัจจุบันนี้ องค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่เหนือเศียรเหนือเกล้าของเรา พระรัศมีที่ใสสว่างครอบคลุมลงมา ทำให้ทั้งร่างกายและจิตใจของเราสว่างไสวไปหมด
พระพุทธเจ้าทรงเป็นอัจฉริยะมนุษย์สุดประเสริฐ มีพระปัญญาคุณอันอันล้ำเลิศ สามารถตรัสรู้พบเห็นอริยสัจที่ไม่มีใครพบเห็นได้ พระองค์มีพระกรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงตรากตรำพระวรกายสั่งสอนสัตว์โลกอยู่ ๔๕ ปีเต็ม ๆ
๔๕ ปีที่พระองค์ท่าน อดตาหลับขับตานอนสอนพวกเรา เนื่องจากเพราะเห็นว่าพวกเราโปรดได้สงเคราะห์ได้ ในแต่ละคืน พระองค์ท่านจะได้บรรทมสักชั่วโมง สองชั่วโมงก็แสนยาก ในบาลีกล่าวถึง พุทธกิจ ๕ ประการ ไว้ว่า
“ปุพพัณเห ปิณฑปาตัญ จะ” เช้าขึ้นมาเสด็จออกบิณฑบาต พระองค์ท่านเสด็จบิณฑบาตตลอดพระชนม์ชีพ
“สายัณเห ธัมมเทสนัง” ตอนบ่ายทรงเทศน์โปรดสั่งสอนประชาชน
“ปโทเส ภิกขุโอวาทัง” ค่ำลงมาให้โอวาทสั่งสอนพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี และสิกขมานาทั้งหลาย
“อัฒฑรัตเต เทวปัญหะนัง” เที่ยงคืนไปแล้วแก้ปัญหาให้กับเทวดา พรหม ที่เขาสงสัย หรือเทศน์โปรด เทวดา พรหม ที่มาขอฟังธรรม
“ปัจจุเสว คเตกาเล ภัพพาภัพเพ วิโลกะนัง” พอใกล้รุ่ง อย่างเช่นตอนนี้ เวลานี้ พระองค์ท่านก็จะสอดส่อง ตรวจดูอุปนิสัยสัตว์โลก ว่าสมควรจะเสด็จไปโปรดผู้ใด สรุปแล้วลองคิดง่าย ๆ ดูว่า พระองค์ท่านมีเวลาบรรทม คือนอนอย่างพวกเราคืนหนึ่งกี่ชั่วโมง
พระองค์ทรงตรากตรำพระวรกายลักษณะนี้ ๔๕ ปีเต็ม ๆ ด้วยพระกรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ เพื่อสงเคราะห์พวกเรา เห็นว่าพวกเราสอนได้ มีโอกาสที่จะทำเพื่อความหลุดพ้นได้ พระองค์ท่านทุ่มเทชีวิต จนกระทั่งวาระสุดท้ายก็เพื่อพวกเรา และขณะนี้พระองค์ท่าน เสด็จอยู่เหนือเศียรเหนือเกล้าของเรา พร้อมที่จะสนับสนุนความดีในทุก ๆ ด้านของเรา พร้อมที่จะรับเราไปสู่พระนิพพาน
พระองค์ท่านประทับอยู่อย่างนั้น ทุกวันทุกเวลา ไม่ได้ไปไหน แต่เราเคยเอาจิตใจจดจ่อกับพระองค์ท่านสักวันละเท่าไหร่ กี่นาที กี่ชั่วโมง หรือว่าลืมโดยสิ้นเชิง พระองค์ท่านประกอบไปด้วย พระบริสุทธิคุณ คือชำระจิตใจของพระองค์ท่านให้ผ่องใสจากกิเลสได้อย่างวิเศษยิ่ง ไม่มีใครทำได้ดีกว่าพระองค์ท่านอีกแล้ว
เมื่อประกอบไปด้วยพระปัญญาคุณอันล้ำเลิศ พระกรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ พระบริสุทธิคุณอย่างสิ้นเชิง นี่แหละ..พระองค์ท่านถึงเป็นพระพุทธเจ้า คำประพันธ์สรรเสริญคุณพระพุทธเจ้าเราสวดอยู่ทุกวันว่า
อิติปิโส ภควา แม้เพราะเหตุนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น
อรหัง เป็นพระผู้ไกลจากกิเลส
สัมมาสัมพุทโธ ตรัสรู้เองโดยชอบ
วิชชาจรณสัมปันโน ถึงพร้อมไปด้วยความรู้และความประพฤติที่ดีทั้งปวง
สุคโต พระองค์ท่านไปดีแล้ว ในทางโลกนั้นจะไปที่ไหนก็ตาม พระองค์ก็สร้างบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ให้เกิด ปลูกฝังธรรมะในจิตในใจของคน ในทางธรรมนั้น พระองค์ท่านไปสู่พระนิพพานแน่นอนแล้ว
โลกะวิทู เป็นผู้รู้แจ้งในโลก โลกคือหมู่สัตว์ กี่ภพกี่ภูมิ กี่หมู่กี่เหล่า พระองค์ท่านรู้แจ้งเห็นจริงหมด ใครสร้างกรรมอย่างไร ถึงได้รับผลของความทุกข์ พระองค์ท่านรู้หมด ใครสร้างบุญอย่างไร ถึงได้รับผลของความสุข พระองค์ท่านรู้หมด
จะทำอย่างไร ถึงจะหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง พระองค์ท่านรู้ทั้งหมด รู้โลกภายในคือกายนี้ รู้โลกภายนอก คือกายคนอื่น รู้โอกาสโลก คือโลกนี้ที่เป็นอยู่ทั้งหมดนี้ ตลอดถึงดวงดาวในทุกจักรวาล พระองค์ท่านรู้หมด รู้ครบถ้วน จึงชื่อว่าโลกะวิทู
อนุตตโร ปุริสทัมมะสารถิ ทรงเป็นสารถีคือผู้ควบคุม ผู้ฝึกสอนที่ยอดเยี่ยม ไม่มีใครเหนือไปกว่านี้อีกแล้ว
สัตถา เทวมนุสสานัง พระองค์ท่านเป็นศาสดา คือ เป็นครูของทั้งมนุษย์และเทวดา สอนทั้งคน ทั้งเทวดา นางฟ้า พรหม ไปด้วย
พุทโธ ทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มีสติมั่นคงอยู่ตลอดเวลาจะหลับจะตื่น จะยืนจะนั่ง พระองค์ท่านรู้ตัวอยู่ตลอด รู้ว่าร่างกายนี่มันทุกข์ รู้ว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายจมอยู่ในกองทุกข์ รู้ว่าร่างกายนี่มันต้องตาย หายใจเข้าไม่หายใจออก มันก็ตาย หายใจออกไม่หายใจเข้า มันก็ตาย รู้ว่าตายแล้ว พระองค์ท่านไปพระนิพพาน
ภควา ถือเอา ๒ ศัพท์ว่าเป็นผู้มีโชค เสด็จไปที่ใดก็ตาม สร้างความสมบูรณ์พูนสุขทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งอริยทรัพย์และโลกียทรัพย์ แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย อีกศัพท์หนึ่งกล่าวว่า เป็นผู้จำแนกแจกธรรม คือ นำธรรมะไปสั่งสอนคนอื่นเขา พระองค์ท่านตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง แล้วสอนธรรมะนั้นแก่ผู้อื่น ให้ตรัสรู้ตาม
บัดนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นอัจฉริยะมนุษย์สุดประเสริฐ ล้ำเลิศกว่าผู้ใด ประทับอยู่เหนือเศียรเหนือเกล้าของเราแล้ว ทุกวันทุกเวลาในแต่ละวัน ให้เอาจิตจดจ่ออยู่กับพระองค์ท่านให้มากที่สุด
ตั้งใจว่า นี่คืองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของพวกเรา พระพุทธเจ้าไม่อยู่ที่ไหนเลย นอกจากพระนิพพาน เราเห็นท่านคือ เราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือ เราอยู่บนพระนิพพาน
เอาใจเกาะภาพนี้ไว้ คือเอาใจเกาะพระนิพพาน หายใจเข้ารพระรัศมีที่สว่างไสวก็ครอบคลุมกายของเรามา หายใจอก พระรัศมีที่สว่างไสว ก็ครอบคลุมกายของเรามา
หายใจเข้าครั้งหนึ่ง หายใจออกครั้งหนึ่ง นึกถึงภาพพระองค์ท่าน นึกถึงคำภาวนา ก็คือเราใกล้พระนิพพานไปก้าวหนึ่ง หายใจเข้าใกล้พระนิพพานไปก้าวหนึ่ง หายใจออกใกล้พระนิพพานไปก้าวหนึ่ง
ให้ตั้งใจว่า...ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่เต็มไปด้วยความทุกข์นี้ เราไม่ขอเกิดมามีมันอีก ขึ้นชื่อว่าโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อนนี้ เราไม่ขอมาเกิดอีก การเป็นเทวดาเป็นพรหม ที่มีสุขชั่วคราว เราก็ไม่ปรารถนา ตายเมื่อไร เราขอไปอยู่พระนิพพาน กับพระองค์ท่านเท่านั้น
หายใจเข้า ภาพพระไหลตามลมหายใจเข้า ไปสุดที่ท้อง หายใจออก ภาพพระไหลตามลมหายใจออก มาอยู่ที่เหนือศีรษะ ทุกวัน ทุกเวลา เอาใจเกาะไว้ดังนี้ให้ได้
ตอนนี้ให้แบ่งความรู้สึก ออกเป็นสองส่วน ความรู้สึกสัก ๒๐ – ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ให้จับภาพพระไว้อย่างนั้น จดจ่อกับภาพพระอย่างนั้น ความรู้สึกที่เหลือทั้งหมดกำหนดให้กายมันเคลื่อนไหว เพื่อทำหน้าที่ของเรา
ตั้งใจว่าเราจะทำงานทุกอย่างเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ถ้ามันตายวันนี้เราขอไปพระนิพพาน กำหนดใจให้มั่นคงดังนี้ แล้วเตรียมตัวทำวัตรต่อได้
พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันอาทิตย์ที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๖

งานตักบาตรวันเทโวที่วัดท่าขนุน
๓. “มาร”

ขอให้ทุกคนขยับตัว นั่งในท่าที่สบาย จะนั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้ ขยับเปลี่ยนอิริยาบถเสียก่อน ถึงเวลาจะได้ไม่เมื่อยมาก เพราะว่าตราบใดที่กำลังใจของเรา ยังข้องเกี่ยวอยู่กับร่างกาย ยังนึกถึงร่างกาย ยึดติดกับร่างกาย ความรู้สึกต่าง ๆ มันก็จะครบถ้วนสมบูรณ์ ทำให้เรานั่งได้ไม่นาน เพราะว่ามันจะเมื่อย จะชา จะปวด
ยกเว้นว่าเราต้องการดูตัวเวทนา ถ้าอย่างนั้นจะมีการทนนั่งกัน นั่งมันนาน ๆ เพื่อให้อาการเวทนา และความทุกข์ทั้งหลาย มันเกิดขึ้นแล้วจะได้แยกแยะว่า ความทุกข์ที่มันเกิดขึ้นนั้น มันเกิดขึ้นกับตัวเรา หรือว่าเกิดขึ้นกับใจของเรา ซึ่งลักษณะแบบนั้น พวกเราไม่ค่อยถนัดกัน
ดังนั้น พวกเรานั่งท่าที่สบาย หายใจเข้า หายใจออกยาว ๆ ทั้ง ๒ – ๓ ครั้ง เพื่อเป็นการระบายลมหยาบออกให้หมด ไม่อย่างนั้น บางคนพอเริ่มภาวนา จะรู้สึกอึดอัด รู้สึกแน่น ทำให้ตกใจ บางทีคนไม่กล้าทำต่อไปเลยก็มี นั่นเป็นอาการที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกมันหยาบไปนิดหนึ่ง
หายใจเข้า หายใจออกยาว ๆ สัก ๒ – ๓ ครั้ง ระบายลมหยาบให้หมด แล้วค่อยปล่อยลมหายใจให้เป็นไปตามปกติ หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ กำหนดความรู้สึกไปด้วยว่ามันผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง ออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก
ความรู้สึกทั้งหมดของเราต้องอยู่ตรงนี้ อยู่ตรงลมหายใจเข้าออกนี้อย่าให้มันเคลื่อนไปไหน นึกถึงเรื่องอื่นเมื่อไร ให้ดึงกลับมาตรงนี้ทันที หากว่าเราจะดูกำลังใจของเราตอนนี้เราก็จะได้เห็นว่า จริง ๆ แล้วมันมีการส่งออกอยู่ตลอดเวลา ส่งออกไปยังเรื่องอื่น ไม่ได้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ไม่ได้อยู่กับสติสมาธิเฉพาะข้างหน้า
แม้กระทั่งการปฏิบัติในมโนมยิทธิของเรา คณาจารย์สายอื่น ท่านก็กล่าวว่าไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการส่งจิตออกนอก แต่อาตมาขอยืนยันว่า การส่งจิตออกนอกในลักษณะฟุ้งซ่าน ขาดสมาธิ เป็นคนละเรื่องกับมโนมยิทธิ
มโนมยิทธิเป็นการส่งจิตออกนอก ด้วยกำลังของฌานสมาบัติ จะมีการควบคุม มีการป้องกัน ควบคุมไม่ให้นิวรณ์กินใจเราได้ ควบคุมไม่ให้ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นกับใจได้ ต้องการจะไปตรงจุดไหนไปได้ นี่คือการใช้ผลของฌานสมาบัติ ไม่ใช่ว่าสร้างผลเกิดแล้วไม่สามารถที่จะนำผลนั้นไปใช้ได้
ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ลืมลมหายใจเข้าออกเมื่อไร คือลืมความดีเมื่อนั้น ดังนั้นทุกวัน ๆ เราต้องทบทวนตัวเอง ต้องอยู่กับลมหายใจเข้าออกของเรา ทุกเวลาต้องกำหนดรู้อยู่เสมอ
ถ้าไม่รู้ลมหายใจเข้าออก ก็ต้องรู้อิริยาบถ คือการเคลื่อนไหวของร่างกายแทน เราเดินให้รู้ว่าเดินอยู่ ก้าวเท้าซ้ายรู้อยู่ว่าก้าวเท้าซ้าย ก้าวเท้าขวารู้อยู่ว่าก้าวเท้าขวา แกว่งแขนซ้ายรู้อยู่ว่าแกว่งแขนซ้าย แกว่งแขนขวารู้อยู่ว่าแกว่งแขนขวา อย่างน้อย ๆ ต้องรู้อิริยาบถเหล่านี้อยู่ จะทำการทำงานใด ๆ ก็ตาม สติสัมปชัญญะให้อยู่เฉพาะหน้า กวาดใบไม้ ทำความสะอาด ไม้กวาดเราจะไปทางซ้ายไปทางขวา ไปแรง ไปเบา ต้องรู้อยู่ จะถูพื้น ไม้ถูเคลื่อนไปข้างหน้า กลับมาข้างหลัง เราต้องรู้อยู่
ไม่ว่าทำกิจทำการใด ๆ ก็ตาม ถ้าสติสมาธิไม่ได้อยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็ต้องอยู่กับอิริยาบถเฉพาะหน้า ต้องกำหนดรู้มันไว้ ถ้าสติสมาธิทรงตัวอยู่ตรงหน้า นิวรณ์ก็ทำอันตรายเราไม่ได้ มารทั้ง ๕ ก็ทำอันตรายเราไม่ได้
การที่เราปฏิบัติความดี จะมีสิ่งที่คอยมาขัดขวางอยู่ เรียกว่า “มาร” รากศัพท์ของมารเป็นบาลี คือคำว่า “มาระ” แปลว่า “ผู้ฆ่า” คือฆ่าเราเสียจากความดีทั้งปวง
ทันทีที่เราเริ่มต้นปฏิบัติภาวนา กำลังใจเริ่มเข้าสู่ตัวปีติ มารจะขัดขวางทันที เพราะบุคคลที่เริ่มเข้าถึงปีติ จะเกิดความยินดี อิ่มเอิบ ไม่เบื่อไม่หน่ายในการปฏิบัติ จะทุ่มเทความพากเพียรกับการปฏิบัติ ดังนั้นจะหลุดพ้นจากอำนาจของเขาได้ มารจึงพยายามขัดขวาง
มารมี ๕ อย่าง คือ
ขันธมาร ร่างกายนี้แหละที่เป็นมาร เดี๋ยวเจ็บเดี๋ยวป่วย ทำให้เราทำความดีไม่ถนัด สมัยฆราวาส อาจจะกินเหล้าเมายาหัวทิ่มพื้น นอนตากน้ำค้างอยู่ก็ไม่เป็นไร แต่พอมาปฏิบัติภาวนา มันเจ็บโน่น ป่วยนี่อยู่เรื่อยไป
บางคนกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปเลย คือ คิดว่าเพราะมาทำความดีถึงเป็นอย่างนี้ ดังนั้นอย่าทำเลยดีกว่า อันนี้คือ ขันธมาร นั่ง ๆ อยู่ก็คันตรงโน้น เจ็บตรงนี้ ปวดตรงนั้น อยู่ ๆ ก็เกิดแปลบปลาบขึ้นมาในร่างกาย ทำให้สมาธิของเราเคลื่อนไป ให้รู้จักหน้าตาของมันไว้ ว่านั่นคือ มาร
กิเลสมาร คือความชั่วที่ฝังอยู่ในจิตใจของเรามา เป็นแสน ๆ ชาติมาแล้ว พยายามจะกระตุ้นเราให้ฟุ้งซ่าน ให้ไหลไปกับรัก โลภ โกรธ หลงอยู่ตลอดเวลา ลีลาของมารก็คือ ยั่วให้กำหนัด ล่อให้หงุดหงิด ลวงให้หลงผิด
ความกำหนัดยินดี อยากมีอยากได้ ทำให้เกิดความราคะกับโลภะ เพราะโลภจึงอยากได้ เพราะยินดีจึงอยากมีอยากเป็น ยั่วให้หงุดหงิดคือกระตุ้นโทสะให้เกิด ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส มันพยายามสอดแทรกเข้ามาในใจของเราอยู่เสมอ จะทำลายเกราะป้องกันจิตใจของเรา เพื่อยึดเราให้เป็นทาสของมันให้ได้ รู้จักหน้าตาของมันเอาไว้
เทวปุตตมา ก็คือ การทดสอบของเทวดาก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี แต่ถ้าเกิดเราสอบตก อย่างเช่นว่าท่านมาทำร้ายเรา อาจจะทำร้ายในนิมิตก็ดี ทำร้ายตัวตนของเราจริง ๆ ก็ดี จนใกล้จะถึงแก่ความตาย แทนที่เราจะรำลึกถึงความตายได้ นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ คิดว่าถ้าตายเราไปนิพพานได้
กลายเป็นว่า เรากลัวตาย เราไปดิ้นรน ไปต่อสู้ ถ้าหากว่าเราปล่อยวางร่างกายไม่ได้ เขาก็คือมาร เพราะว่าขวางเรา ทำให้เราก้าวไม่ผ่านจากจุดนั้น แต่ถ้าปัญญาของเราดี ก้าวผ่านไปได้ เขาก็กลายเป็นผู้หนุนเสริมของเรา
อภิสังขารมาร คือ บุญบาป บาปนั้นขวางเราอย่างไร เรารู้อยู่ตกนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน โอกาสจะประกอบกรรมทำความดีนั้น สัตว์นรก เปรต อสุรกายไม่มีโอกาสเลย สัตว์เดรัจฉานมีน้อยเหลือเกินที่จะได้ทำความดี ดังนั้นมันขวางเราให้เข้าถึงความดีได้ยากแบบนี้
ส่วนบุญที่ขวางเราไม่ให้เข้าถึงความดีนั้น มีกำลังของฌานสมาบัติ เป็นต้น โดยเฉพาะอรูปฌาน ถ้าได้อรูปฌาน ต้องไปเกิดเป็นอรูปพรหม หนึ่งหมื่นมหากัลป์ สองหมื่นมหากัลป์ สี่หมื่นมหากัลป์ แปดหมื่นมหากัลป์ อยู่กันเนิ่นนานเหลือเกิน นานจนกำหนดเป็นตัวเลขแล้ว เราไม่สามารถจะอ่านมันออกมาได้
ดังนั้นโอกาสที่จะทำความดีต่อของเราก็ไม่มี ถ้าเศษบุญเก่าไม่เหลืออยู่ หลุดจากจุดของอรูปพรหม อาจะลงอบายภูมิไปเลย แต่ถึงเศษบุญเก่ามีเหลืออยู่ ได้ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ ก็ต้องมาลำบากยากเข็ญกันต่อไป ดังนั้นเขาจึงขวางเราด้วยวิธีนี้
ตัวสุดท้ายคือ มัจจุมาร คือ ความตายที่คอยขวาง หลายคนกำลังใจแรงกล้า มอบกายถวายชีวิตต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เขารู้ว่าขวางไม่ได้ด้วยวิธีอีก ๔ อย่างที่ผ่านมา ก็ทำให้ตายไปเลย
แต่นั่นหมายความว่า ช่วงนั้นเราต้องมีอุปฆาตกรรมเข้ามาถึงด้วย กรรมใหญ่ที่เราเคยฆ่าคน ฆ่าสัตว์ เศษกรรมนั้นจะมาสนองช่วงนั้นพอดี เป็นวาระ เป็นเวลาที่เปิดให้เขา
ดังนั้น เขาจึงสามารถทำอันตรายเราได้ เพราะเขารู้จังหวะรู้เวลา นั้น ๆ ถ้าไม่ใช่จังหวะอย่างนั้น ไม่ใช่เวลาอย่างนั้น เขาทำอะไรเราไม่ได้
มารมีตัวมีตนจริง ๆ เป็นตัวเป็นตน จับได้ต้องได้ แต่ว่าเรากว่าจะรู้ กว่าจะเห็นเขา บางทีกลายเป็นสนับสนุนเขา มารมีความสามารถมาก เวลาเราต่อสู้กับเขา ถ้าหากว่าเราโกรธ มีโทสะ เราก็แพ้เขา เพราะว่าการล่อให้หงุดหงิด เขาสามารถทำได้สำเร็จแล้ว
ถ้าเราไปยินดีกับสิ่งที่เขามาล่อลวง โลภะกับราคะก็เกิดการยั่วให้กำหนัดของเขาก็สำเร็จอีกแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราทั้งหมด มารจะส่งข้อสอบมาทุกเวลา ทุกนาที ทุกวินาที หัวข้อข้อสอบก็คือ รัก โลภ โกรธ หลง แค่ ๔ ข้อนี่แหละ เขาออกข้อสอบได้เป็นล้าน ๆ ทดสอบเราอยู่ตลอดเวลา
คนรอบข้างของเรา วัตถุทุกชิ้น ข้าวของทุกอย่าง เขาสามารถใช้เป็นเครื่องมือได้ อยู่ ๆ คนข้างตัวของเราที่เรารัก เราไว้เนื้อเชื่อใจ อาจจะพูดอะไรบางอย่าง ที่กระทบใจเราอย่างรุนแรงได้ นั่นเป็นการดลใจของมารให้ทำดังนั้น
เห็นข้าวของวางอยู่ เดินผ่านมาอารมณ์เสียอย่างกะทันหัน “...ใครกันวะ ? มันวางข้าวของเกะกะขนาดนี้ ไม่รู้จักเก็บไม่รู้จักทำ...” กลายเป็นว่าของชิ้นหนึ่ง คนคนหนึ่ง คำพูดคำหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม รอบข้างของเรา เขาสามารถใช้เป็นเครื่องมือจัดการกับเราได้ทั้งหมด
เราแผ่เมตตาให้เขาได้อย่างเดียว แต่การที่เราแผ่เมตตาให้เขาอย่างเดียว บางทีกำลังเราไม่พอ เนื่องจากว่าเมตตาขนาดพระพุทธเจ้าแผ่ให้เขา เขายังไม่ยินดีที่จะรับ แล้วกำลังเราเท่าพระพุทธเจ้าหรือไม่? แต่ขณะเดียวกันถ้าเราใช้โทสะ เราก็แพ้เขาอีก
ดังนั้นว่าเมตตาก็ไม่ไหว โทสะก็ไม่ได้ แล้วเราจะทำอย่างไร ? ก็ต้องพิจารณาให้เห็นจริงว่า มารนั้นไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นครูที่ดีที่สุดของเรา สิ่งที่เขาเอามาทดสอบ ถ้าเราสามารถก้าวผ่านไปได้ เราจะไม่ตกต่ำจากจุดนั้นอีก
ข้อสอบชนิดนี้จะไม่สามารถทำอันตรายเราได้อีก ถ้าเราสอบตกต่างหาก เขาจึงจะเป็นผู้ขวาง เป็นผู้ฆ่าเรา ดังนั้นว่าจริง ๆ แล้วมารก็คือครูบาอาจารย์ประเภทหนึ่ง เป็นครูบาอาจารย์ที่ขยันเหลือเกิน
ออกข้อสอบทดสอบเราอยู่ทุกเวลา ทุกนาที ทุกวินาที เผลอเมื่อไหร่ รัก โลภ โกรธ หลงกินใจเราเมื่อนั้น เผลอเมื่อไหร่ก็รับเข้าทางตา รับเข้าทางหู รับเข้าทางจมูก รับเข้าทางลิ้น รับเข้ากาย แล้วก็เข้าไปสู่ใจเมื่อนั้น
พระพุทธเจ้าท่านถึงได้สอนให้เรารู้จักสำรวมอินทรีย์ คือ รู้จักระมัดระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราเอาไว้ ไม่ให้ยินดียินร้าย กับสิ่งที่มากระทบ ตาเห็นรูปหยุดอยู่แค่นั้น รูปทำอันตรายเราไมได้ อย่าไปปรุงแต่งว่านั่นเป็นหญิง นั่นเป็นชาย นั่นสวย นั่นไม่สวย ถ้าหากว่าเริ่มปรุงแต่งเมื่อไหร่ ก็เสร็จเขาเมื่อนั้น
ขอให้ทุกคนตั้งใจว่า เราทำหน้าที่ของเรา คือพยายามที่จะไปนิพพานให้ได้ เขาทำหน้าที่ของเขา คือเขามีหน้าที่ขวางก็ขวางไป ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัว ไม่มีใครทำอะไรขัดกัน ไม่มีใครเป็นศัตรูกัน
มารไม่ใช่ศัตรู แต่เป็นครูที่ดีที่สุด เป็นครูที่ขยันออกข้อสอบมากที่สุด จึงเป็นหน้าที่ของเรา ที่ต้องสร้าง สติ สมาธิ ปัญญา ให้มั่นคง เพื่อจะได้รับมือกับเขาได้
บริวารของเขาทั้งหลายที่ส่งออกมา อยู่ในลักษณะของกามฉันทะ พอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ
พยาบาท ความผูกโกรธ อาฆาตแค้นผู้อื่นเขา ถีนมิททะ ความง่วงเหงาหาวนอน ความขี้เกียจปฏิบัติ จะได้อยู่กับเขาต่อไป
อุธัจจะ ความฟุ้งซ่านอารมณ์ใจไม่ตั้งมั่น วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในผลของการปฏิบัติ ลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ลังเลสงสัยในครูบาอาจารย์ ว่าจะมีความสามารถจริงหรือไม่ ? นั่นเป็นการดลใจของมาร เป็นบริวารของมาร
เราสามารถหลีกพ้นได้ง่ายที่สุด คืออยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออกเท่านั้น หายใจเข้าก็นึกว่า พุท หายใจออกก็นึกว่า โธ กำหนดภาพพระให้แนบแน่นอยู่ในใจ
ภาพพระไหลตามลมหายใจเข้า ไหลตามลมหายใจออก เข้าไปเล็กลง ออกมาใหญ่ขึ้น เข้าไปเล็กลง เล็กลง ออกมาใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้น กำหนดใจให้นิ่งอยู่อย่างนี้
มารจะทำอันตรายเราไม่ได้ เนื่องเพราะว่าจิตของเราอยู่เฉพาะหน้า ไม่ได้ส่งออก ไม่ได้ปรุงแต่งไปในอารมณ์อื่น ๆ มารทั้งหลายที่เขาขัดขวางเรา เพราะไม่ต้องการให้เราหลุดพ้น
หน้าที่ของเขาก็คือ สร้างความลำบากนานัปการให้แก่เรา ให้เราต่อสู้ ให้เราฟันฝ่า เพื่อบารมีของเราได้เข้มแข็งขึ้น ได้มั่นคงขึ้น กำลังจะได้สูงขึ้น เพื่อที่จะหลุดพ้นจากกิเลสได้
ดังนั้น มารไม่ใช่ศัตรู เราไม่ใช่คนมีศัตรู เราอย่าไปคิดเป็นศัตรูกับใคร เพราะนั่นเป็นกำลังใจของ วิหิงสาวิตก คือการตรึกในการจะเบียดเบียนคนอื่น
เป็นกำลังใจของ พยาบาทวิตก คือการตรึกที่จะอาฆาตแค้นโกรธเคืองคนอื่น ให้วางกำลังใจลงเสีย คิดว่าเราเป็นผู้ไม่เป็นศัตรูกับใคร เรายินดีเป็นมิตรกับคน และสัตว์ทั่วโลก
ขอให้มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ทุกภพ ทุกภูมิ ทุกหมู่ ทุกเหล่า ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงอย่าได้มีเวรมีกรรม และเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น ได้ล่วงพ้นจากความทุกข์ ได้ประสบแต่ความสุข โดยถ้วนหน้ากัน ทุก ๆ ท่านเถิด
จับภาพพระของเราให้สว่างไสวเอาไว้ กำหนดใจแผ่เมตาให้เป็นปกติ เมตตาต่อคน เมตตาต่อสัตว์ อย่าให้มีประมาณอย่าเลือกที่รักมักที่ชัง อย่าไปดูว่า คนนี้สวยเราเมตตา คนนี้หล่อเราเมตตา สัตว์ตัวนี้สวยเราเมตตา สัตว์ตัวนี้ไม่สวยเราไม่เมตตา อย่างนั้นใช้ไม่ได้
กำลังใจของเราต้องเป็น อัปปมัญญา คือ หาประมาณไม่ได้ ตั้งเจตนาไว้ว่าเราจะสงเคราะห์คนและสัตว์ทั้งหมดให้มีความสุขเสมอหน้ากัน เวลาออกทำการทำงาน ทำหน้าที่ของเรา ฆราวาสทำการทำงานก็ดี กำหนดใจให้สบาย ให้สดชื่น ให้แจ่มใส ให้เห็นว่าคนรอบข้างของเรา คือ เพื่อน ร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งนั้น
ถ้าเขามีสุข เรายินดีในความสุขของเขา เขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในชีวิต เรายินดีกับเขา ถ้าเขาอยู่ในความทุกข์ เราพร้อมจะช่วยเหลือเขา ถ้าหากว่าความทุกข์นั้น เกินจากความสามารถของเรา เราก็ยังพร้อมที่จะช่วยเหลือ ถ้าหากว่ามันมีความสามารถถึงเมื่อไหร่ เราช่วยเมื่อนั้น
เป็นพระเป็นเณร ถึงเวลาออกบิณฑบาต กำหนดใจให้ญาติโยมทั้งหลาย ไม่ว่าจะใส่บาตรก็ดี ไม่ใส่บาตรก็ดี ขอให้เขาเหล่านั้น มีแต่ความสุข ล่วงพ้นจากความทุกข์โดยทั่วหน้ากัน ให้เมตตาเป็นปกติ กรุณาเป็นปกติ มุทิตาเป็นปกติ และวางกำลังใจให้เป็นอุเบกขาเป็นปกติ
ไม่ยินดี ไม่ยินร้ายต่อสิ่งทั้งปวงที่มากระทบ ตาเห็นรูป สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินเสียง สักแต่ว่าได้ยิน จมูกได้กลิ่น สักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้นได้รส สักแต่ว่าได้รส กายสัมผัส สักแต่ว่าสัมผัส ให้สติรู้เท่าทัน หยุดมันเอาไว้แค่นั้น อย่าให้เข้ามาทำอันตรายจิตใจของเราได้
ถ้าใจของเราอยู่กับพระ ใจของเราอยู่กับการภาวนา สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จะทำอันตรายเราไม่ได้ ดังนั้นทุกเวลาที่สติ สมาธิ ทรงตัว พยายามเกาะภาพพระให้เป็นปกติ เกาะลมหายใจเข้าออกให้เป็นปกติ
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ หน้าที่การงานทุกอย่างของเรา ให้คิดว่า วันนี้เป็นวันสุดท้าย เรามีแค่วันนี้วันเดียว หรือว่าเรามีแค่ลมหายใจเข้าออกเดียวเท่านั้น หายใจเข้า ถ้าไม่หายใจออก อาจจะตายไปเลย หายใจออก ไม่หายใจเข้าก็อาจจะตายไปเลย
ดังนั้น ถ้าเวลาเราน้อยจนขนาดนี้ เราก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด หน้าที่การงานอะไรที่เรารับผิดชอบ ทำเหมือนกับว่ามันเป็นวันสุดท้ายของชีวิต ทำแบบทุ่มเท ทำให้ดีที่สุด เพื่อถึงเวลาแล้วเราจะได้จากไปอย่างสง่างามที่สุด
ดังนั้น ในเมื่อเรามีแค่ตอนนี้ มีแค่เดี๋ยวนี้เท่านั้น ถ้าหากว่าดูเวรกรรมเก่า ๆ ที่เราทำไว้ มันมากเหลือเกิน เวลาที่เหลืออยู่แค่ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ชั่วโมงข้างหน้าไม่มี นาทีข้างหน้าไม่มี เราจะรีบตะเกียกตะกายสร้างความดี เพื่อให้หนีความชั่ว ให้ได้มากที่สุด สมควรที่จะทำดังนี้แล้วหรือไม่ ?
ในเมื่อความชั่วในอดีตที่ทำไว้ มีมากเหลือเกิน มันเกาะติดหลังมาแล้ว เราต้องรีบยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยึดลมหายใจเข้าออก ยึดพระนิพพานให้แนบแน่นเข้าไว้ ไม่อย่างนั้นกรรมเก่าที่เกาะติดมาอยู่ ก็จะลากเราลงสู่อบายภูมิ ทำให้เราต้องทุกข์ยากลำบาก หาที่สิ้นสุดไม่ได้
น้อมจิตน้อมใจเกาะภาพพระให้เป็นปกติ ตั้งใจว่า นั่นคือพระพุทธเจ้าของเรา ท่านไม่อยู่ที่ไหนนอกจากพระนิพพาน เห็นท่านเมื่อไหร่คือเราอยู่กับท่าน อยู่กับท่านเมื่อไหร่คือเราอยู่บนพระนิพพานด้วย ให้จิตจดจ่ออยู่กับเฉพาะหน้า อย่าส่งอารมณ์อื่น การรับรู้อารมณ์อื่น ถ้าขาดสติ กันมันไม่ทัน มันจะทำอันตรายให้กับเราได้ทันที
ค่อย ๆ คลายสมาธิ ออกมาสู่อารมณ์ปกติอย่างระมัดระวัง แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งเกาะภาพพระ เกาะการภาวนาไว้ให้เป็นปกติ เราจะได้ทำหน้าที่การงานของเราต่อไป
พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันจันทร์ที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๖

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

MAKHA BUCHA DAY


It was 9 full months after the Buddha got the Enlightenment, on the full moon day of 6th lunar month, 45 years before the Buddhist era. On the full moon day of the 3rd lunar month, Makha, of the year, 4 special events happened:
1. There were 1,250 Sangha followers, that came to see the Buddha that evening without any schedule.
2. All of them were "Arhantas', the Enlightened One, and all of them were ordained by the Buddha himself.
3. The Buddha gave those Arhantas the principles of the Buddhism, called "The Ovadhapatimokha". Those principles are: - To cease
from all evil, - To do what is good, - To cleanse one's mind;
4. It was the full moon day.

Another important event, which happened on the same days (the full moon day of the 3rd lunar month) 44 years later, the last year of the Buddha's life, he decided to 'Parinibbhana', nirvana, leave the mind from the body or die. 3 months after that day (on the full moon day of the six lunar month -- we known as 'Visakha Bucha Day').

ACTIVITIES TO BE OBSERVED ON
MAKHA BUCHA DAY
'TUM BOON': Making merit by going to temples for special observances, making merit, listening to Dhamma preaching, giving some donations and join in the other Buddhist activities.
'RUB SIL': Keeping the Five Precepts, including abstinence from alcoholic drinks and all kinds of immoral acts.
'TUK BARD': Offering food to the monks and novices (in the alm bowl).
Practice of renuciation: Observe the Eight Precepts, practice of meditation and mental discipline, stay in the temple, wearing white robes, for a number of days.
'VIEN TIEN': Attending the Candle Light Procession around the Uposatha Hall, in the evening of the Vesak full moon day.

วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

Forward Email : เวลาทำบุญให้อธิษฐานแบบนี้...จะดีแก่ตัวเรา

คำอธิษฐานเวลาทำบุญ

ขอบุญจาก............(ธรรมทาน,สังฆทาน,วิหารทาน )นี้ จงถึง
แก่เจ้ากรรมนายเวรและผู้ปกปักรักษาดูแลช่วยเหลือข้าพเจ้าและครอบครัวที่มาถึงตัวทุกภพทุก ภูมิ
ขอบุญนี้จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าเข้าถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบัน
หากไม่ถึงเพียงใดขอให้คำว่าไม่มีไม่รู้ในสิ่งที่ดี จงอย่าได้ปรากฎแก่ข้าพเจ้า
ขอให้เกิดในภพภูมิเขตประเทศที่มีพระพุทธศาสนาประดิษฐานอย่างมั่นคง
และได ้ศึกษาพระธรรมได้อย่างเข้าใจถ่องแท้ลึกซึ้งตลอดจนกว่าจะเข้าพระนิพพานด้วยเทอญ
ขอท่านพระ ยมราชจงเป็นสักขีพยานในการบำเพ็ญ บุญของข้าพเจ้าในครั้งนี้ด้วยเทอญ

ตายก่อนตาย

ตายเมื่อตาย ย่อมกลาย ไปเป็นผี
ตายไม่ดี ได้เป็นที่ ผีตายโหง
ตายทำไม เพียงให้ เขาไส่โลง
ตายโอ่โถง นั้นคือตาย เสียก่อนตาย

ตายก่อนตาย มิใช่กลาย ไปเป็นผี
แต่กลายเป็น สิ่งที่ ไม่สูญหาย
ที่แท้คือ ความตาย ที่ไม่ตาย
มีความหมาย ไม่มีใคร ได้เกิดแล

คำพูดนี้ ผันผวน ชวนฉงน
เหมือนเล่นลิ้น ลาวน คนตอแหล
แต่เป็นความ จริงอัน ไม่ผันแปร
ใครคิดแก้ อรรถได้ ไม่ตายเลยฯ

พุทธทาส อินทปัญโญ
http://www.buddhadasa.com