สติปัฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งของสติ เป็นวิธีปฏิบัติที่นิยมกันมากเพราะเป็นการปฏิบัติที่มีพร้อมทั้งสมถะและวิปัสสนาในตัว แม้พระพุทธองค์ยังทรงตรัสสรรเสริญไว้ว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นมรรคาเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้นความโศกและความร่ำไร เพื่อความอัสดงดับไปแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้คือ สติปัฏฐาน 4”
นอกจากนี้พระองค์ยังทรงตรัสถึงอานิสงส์ของผู้เจริญสติปัฏฐาน 4 ไว้ว่า
“ผู้ใดเจริญสติปัฏฐาน 4 นี้ตลอด 7 วัน หรืออย่างสุดตลอด 7 ปี ผู้นั้นพึงหวังผล 2 อย่าง คือ ได้บรรลุอรหันตผลในชาติปัจจุบัน หรือถ้ายังมีอุปาทิเหลืออยู่ก็เป็นพระอนาคามี”
สติปัฏฐาน 4 นี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ใน มหาสติปัฏฐานสูตร เล่ากันว่าในสมัยนั้นชาวแคว้นกุรุไม่ว่าเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ล้วนมีร่างกายและจิตใจสมบูรณ์อยู่เป็นนิจ ด้วยเหตุว่า แคว้นนี้สมบูรณ์ด้วยสัปปายะต่างๆ มีอุตุสัปปายะเป็นต้น เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นความพร้อมของชาวกุรุที่มีร่างกายจิตใจสมบูรณ์และมีกำลังปัญญาสามารถเข้าใจธรรมเทศนาอันลึกซึ้งได้จึงทรงแสดงพระสูตรนี้แก่ชาวกุรุ เมื่อพุทธบริษัท 4 ในแคว้นกุรุนั้นได้รับฟังธรรมเทศนาแล้วต่างก็เจริญสติปัฏฐานอยู่เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นคนงานคนรับใช้ หรือใครๆ ก็ตาม
สติปัฏฐาน แบ่งเป็น 4 หมวด คือ
1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
4) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่าเป็นแต่เพียงกายไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ให้รู้ เห็นตามเป็นจริงจำแนกวิธีปฏิบัติไว้ 6 อย่างคือ
1.อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ คือ ไปในที่สงัด อาจเป็นป่าโคนไม้ เรือนว่าง หรือที่สงบวิเวก จากนั้นจึงนั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรงดำรงสติเฉพาะหน้า ตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้า-ออก โดยอาการต่างๆ คือ
เมื่อลมหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว
เมื่อลมหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น
2.อิริยาบถ กำหนดรู้ทันอิริยาบถคือเมื่อยืน เดิน นั่ง นอน หรือร่างกายอยู่ในอาการอย่างไรๆ ก็รู้ชัดในอาการที่เป็นอยู่นั้น
3.สัมปชัญญะ คือ สร้างสัมปชัญญะ (ความเป็นผู้รู้พร้อม)
4.ปฏิกูลมนสิการ คือการพิจารณาร่างกายของตนตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้า ว่าเต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ อันได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้น้อย ไส้ใหญ่ อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด น้ำเหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ น้ำมูตร
5.ธาตุมนสิการ คือ พิจารณาร่างกายของตน โดยให้เห็นแยกเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ
6.นวสีวถิกา คือ มองเห็นศพที่อยู่ในสภาพต่างๆ กัน โดยระยะเวลา 9 ระยะ ตั้งแต่ตายใหม่ๆ ไปจนถึงกระดูกผุ แล้วในแต่ละกรณีนั้นให้ย้อนมานึกถึงร่างกายของตน ว่าก็จะต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน
สภาพศพ 9 ระยะได้แก่
1. ซากศพที่ตายแล้ว 1-3 วัน กำลังเน่าพองขึ้นอืด เป็นสีเขียว มีน้ำเหลือไหล
2. ซากศพที่ถูกสัตว์ เช่นสุนัข แร้ง กา หรือหมู่สัตว์ตัวเล็กๆ ต่างๆ จิกทึ้งกัดกิน
3. ซากศพเหลือแต่ร่างกระดูก ยังมีเนื้อ เลือดและเส้นเอ็นรึงรัดอยู่
4. ซากศพที่ปราศจากเนื้อเหลือแต่ร่างกระดูกเปื้อนเลือด และยังมีเส้นเอ็นรึงรัดอยู่
5. ซากศพที่ปราศจากเนื้อและเลือด เหลือแต่ร่างกระดูกมีเส้นเอ็นรึงรัดอยู่
6. ซากศพที่เหลือแต่กระดูก กระจัดกระจายไปในทิศทางต่างๆ
7. ซากศพที่เป็นท่อนกระดูกสีขาวเหมือนสังข์
8. ซากศพที่เหลือเพียงท่อนกระดูกกองเรี่ยราดเป็นเวลาเกิน 1 ปีไปแล้ว
9. ซากศพที่เหลือเพียงท่อนกระดูกผุละเอียดแล้ว
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นเพียงเวทนาไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา คือ เมื่อเกิดความรู้สึกสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นชนิดสามิสและนิรามิสก็รู้ชัดตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิตให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิตไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนเราเขา มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ หลุดพ้น ยังไม่หลุดพ้น ฯลฯ ก็รู้ชัดตามที่มันเป็นอยู่ในขณะนั้นๆ
ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา คือมีสติรู้ชัดธรรมทั้งหลายได้แก่
1. นิวรณ์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นๆ ว่านิวรณ์ 5 (ได้แก่ กามฉันทะ พยาบาท ความหดหู่ง่วงเหงา ความฟุ้งซ่านกังวลใจ ความลังเลสงสัย) แต่ละอย่างๆ มีอยู่ในใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร มีเกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร รู้ชัดตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
2. ขันธ์ คือ กำหนดรู้ว่าขันธ์ 5 แต่ละอย่างคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร
3. อายตนะ คือ รู้ชัดในอายตนะภายในภายนอกแต่ละอย่างๆ รู้ชัดในสัญโยชน์ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยอายตนะนั้นๆ รู้ชัดว่าสัญโยชน์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้วไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร
4. โพชฌงค์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นๆ ว่า โพชฌงค์ 7 (องค์แห่งการตรัสรู้ ได้แก่ สติ ธรรมวิจัย วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ (อุเบกขา) แต่ละอย่างๆ มีอยู่ในใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วเจริญเต็มบริบูรณ์ได้อย่างไร
5. อริยสัจ คือ รู้ชัดอริยสัจ 4 แต่ละอย่างๆ ตามความเป็นจริง ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร
หมายเหตุ เรียบเรียงจาก
1. มหาสติปัฏฐานสูตร พระสุตตันตปิฏก ทีฆนิกาย มหาวรรค
2. พุทธธรรม พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
3. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระเทพเทวี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
ที่มา : ธรรมะสว่างใจ ฉบับที่ 15
บทความจาก:
http://sanghathandhamma.com/index.php?option=com_content&task=view&id=198&Itemid=71
ทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ปุณกัณฑ์ ถ.ศรีตรัง ในซ.นภัสวรรณแมนชั่น
-
-ทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ปุณกัณฑ์ ถ.ศรีตรัง ในซ.นภัสวรรณแมนชั่น
-กว้าง 5 เมตร,ยาว 21 เมตร , 25 ตร.วา
-2 ห้องนอน(= 1 ห้องนอนใหญ่)
-2 ห้องน้ำ
-บ้านอายุประมาณ 5 ปี
-น...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น